ด่วน! ศาลรธน.มติ 9 ต่อ 0 ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

23 พ.ย. 2565 | 04:49 น.

ศาลรธน.ลงมติ 9 ต่อ 0 ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9 และ มาตรา 10 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ รอลุ้นต่อ 30 พ.ย.นี้ ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันนี้( 23 พ.ย.65) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมลงมติว่าร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมีรายงานว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ลงมติ 9 ต่อ 0 ว่าร่างพ.ร.ป.ดังกล่าว ไม่ขัดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด


ก่อนหน้านี้ ประธานรัฐสภา ส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 77 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132 ว่า ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่.. ) พ.ศ. ....  มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9  และมาตรา 10 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 มาตรา 83 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 และมาตรา 258 หรือไม่ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่  

คำร้องดัวกล่าว ประธานรัฐสภา ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เมื่อวันที่  29 ส.ค.ที่ผ่านมา ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับคำร้องเมื่อวันที่ 21 ก.ย. พร้อมมีคำสั่งแจ้งผู้ร้อง และให้ผู้เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นเป็นหนังสือ พร้อมส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ก่อนอภิปรายนำไปสู่การวินิจฉัย


โดยเห็นว่า คดีเป็นปัญหาทางข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอ ที่จะวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันนี้ 

 

สำหรับประเด็นตามมาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9 และมาตรา 10 ของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการลดค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรค เดิมปีละไม่เกิน 100 บาท เหลือไม่เกิน 20 บาท ตลอดชีพลดเหลือไม่เกิน 200 บาท จากเดิมไม่น้อยกว่า 2,000 บาท ซึ่งส.ว.ที่เข้าชื่อยื่นคำร้องเกรงว่า จะเป็นการเปิดให้เกิดนายทุนครอบงำ และไม่เป็นพรรคของประชาชน  และตัดคุณสมบัติผู้ต้องคดีอาญา การฉ้อโกง ยาเสพติด การพนัน การค้ามนุษย์และการฟอกเงิน หากคดีไม่ถึงขั้นติดคุกก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกพรรคได้ 

 

ประเด็นการตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ที่แก้ไขให้สามารถเลือกผู้สมัครได้จากเดิมที่จะเป็นหน้าที่ของตัวแทนประจำเขตเลือกตั้ง ซึ่งส.ว.ที่เข้าชื่อยื่นคำร้องมองว่า อาจขัดกับรัฐธรรมนูญที่ให้แต่ละเขตเลือกผู้สมัคร

 

ประกอบกับการให้เลือกบุคคลจากรายชื่อคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครคัดเลือกมา ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะจะขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการเลือกผู้สมัคร รวมทั้งการตัดเรื่องห้ามสมาชิกเรียกรับผลประโยชน์ หรือใช้อิทธิพลข่มขู่ในการเลือกผู้สมัคร ส.ส.ทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ   

 

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะแจ้งผลการวินิจฉัยให้ประธานรัฐสภาได้รับทราบ  และประธานรัฐสภาจะส่งร่างฯ ให้นายกรัฐมนตรี   เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามขั้นตอนต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ยังเหลือร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.(ฉบับที่...) พ.ศ....ที่ประธานรัฐสภา ส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 105คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132 ว่าร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.(ฉบับที่.. ) พ.ศ. ....  มาตรา 25

 

และ มาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 มาตรา 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยในวันที่ 30 พ.ย.นี้  เวลา 09.30 น.