8 ปี “ประยุทธ์” รอด! บรรทัดฐานไทย!

29 ก.ย. 2565 | 23:09 น.

8 ปี “ประยุทธ์” รอด! บรรทัดฐานไทย! : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ3823

30 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมเพื่อลงมติและแถลงผลการพิจารณากรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังรับคำร้องไว้วินิจฉัย และสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ไปตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา ด้วยมติ 5:4 

 

ประเด็นที่ผู้คนในสังคมกำลังต้องการคำตอบคือ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยไปในทิศทางใด!  

บันทึกไว้ ณ บัดนี้ ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินออกแบบไหน จะเป็นบรรทัดฐานของประเทศ และจะเป็นตัวชี้วัดอนาคตทางการเมืองของประเทศไทยแน่นอน 

 

เพื่อให้สังคมเกิดความกระจ่าง ผมขอทำนายแนวทางการพิจารณาของศาลรัฐธรมนูญว่าจะออกมา 3 แนวทางนี้

หนึ่ง หากตัดสินว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี วันที่ 23 ส.ค. 2565 จะเป็นการนับระยะเวลาจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 วันที่ 24 ส.ค. 2557 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557   


ถ้าเป็นแบบนี้ จะส่งผลทางกฎหมายและทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 170 วรรคสอง เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะ ตามมาตรา 167 (1) แต่ ครม. ซึ่งพ้นจากตำแหน่งยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้และมีอำนาจเต็ม จนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่อ

 

กรณีเช่นนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี จากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะหลุดจากตำแหน่งด้วยพร้อมกับรัฐมนตรีทุกคน แต่จะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เป็นเรื่องท้าทายต่อสปิริตทางการเมือง   


หลังจากนั้น จะเข้าสู่กระบวนการต่อไป ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะต้องพิจารณาเลือกนายกฯ คนใหม่ ตามมาตรา 272 ซึ่งกำหนดให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. เห็นชอบเลือกนายกฯ คนใหม่  

 

การเลือกนายกฯ คนใหม่จะคัดจากผู้มีชื่ออยู่บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตอนการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 

 

บุคคลซึ่งมีคุณสมบัติอยู่ในบัญชีของพรรคการเมือง ได้แก่ ชัยเกษม นิติสิริ จากบัญชีพรรคเพื่อไทย อนุทิน ชาญวีรกูล จากบัญชีพรรคภูมิใจไทย และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากบัญชีพรรคประชาธิปัตย์ 

 

แม้จะมี สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แต่สุดารัตน์ ออกไปตั้งพรรคไทยสร้างไทย และเคยประกาศหลังการเลือกตั้งปี 2562 ว่าจะไม่ขอรับตำแหน่ง ขณะที่ ชัชชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศต่อสาธารณะว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกฯ 

 

การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ กล่าวคือ ไม่น้อยกว่า 48 คน 

 

การลงคะแนนเลือกนายกฯ ต้องกระทำโดยเปิดเผย ลงมติด้วยการขานชื่อ และต้องได้รับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา   

 

แต่หากไม่สามารถเลือกนายกฯ จากแคนดิเดตในบัญชีของพรรคการเมืองที่มีอยู่ได้ ก็จะเปิดทางไปสู่ช่อง “นายกฯ คนนอก” โดยสมาชิกทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้มีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเลือกนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองได้ โดยต้องใช้มติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา  

 

ไม่ว่าจะเป็นใคร หรือ มาจากบัญชีของพรรคการเมืองหรือไม่ ก็จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ถึง 23 มีนาคม 2566 เท่านั้น 

 

สอง หากตัดสินว่าการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ในวันที่ 8 มิ.ย. 2570 จะเป็นการเริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่ พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2562  

 

สาม หากตัดสินว่าการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ในวันที่ 5 เม.ย. 2568 ศาลจะนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 เม.ย. 2560 เป็นต้นไป    

 

ถ้าให้ผมวิเคราะห์การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผมว่าศาลน่าจะตัดสินออกมาในแนวทางที่สามมากที่สุด นั่นคือ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ในวันที่ 5 เม.ย. 2568 ซึ่งจะทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ เหลือระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก 2 ปี

                                   8 ปี “ประยุทธ์” รอด! บรรทัดฐานไทย!

แต่....แม้จะพ้นบ่วงกรรมในเรื่องเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เวลาของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการเป็นนายกรัฐมนตรีจบลงแน่นอน 

 

หนึ่ง คงมีพรรคการเมืองใดเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศในห้วงการเลือกตั้ง เพราะเหลือเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ แค่ 2 ปี จึงนำไปเป็นประเด็นการหาเสียงจากประชาชนไม่ได้ 

 

สอง พล.อ.ประยุทธ์ จะเจอมรสุมการต่อต้านแบบสุดขั้วจากพรรคการเมือง และเจอะเจอกับการเมืองบนท้องถนนเต็มไปหมด แม้แต่ในห้วงเวลาของการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 

 

สาม ผมเชื่อในสัญชาตญาณของชายชาติทหาร พล.อ.ประยุทธ์ คงรู้ดีว่า ท่านแพ้ หรือ ชนะสงครามการเมืองแล้ว 

 

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์ทางการเมือง ผมขอวิเคราะห์ไว้ตอนนี้เลยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอดแน่นอน!

 

ส่วนผลการพิจารณาจะออกมา 5/4 6/3 7/1 รอลุ้นด้วยความระทึก


และเส้นจากในชีวิตของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากนี้ไป จะไปบรรจบที่ “องคนตรี” 

 

แต่จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่อยู่ที่ “ลิขิตฟ้า กับ ชะตาคน” รอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์  

ทำไมผมถึงมั่นใจในการตัดสินว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะรอดจากบ่วงกรรม 8 ปี มาดูนี่ 

 

นี่คือบ่วงกรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ ในระยะที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2562 จนถึง ปี 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกฯ ถูกยื่นตรวจสอบผ่านกลไกศาลรัฐธรรมนูญ ไปแล้ว 3 ครั้ง ทุกครั้ง  พล.อ.ประยุทธ์ รอดแทบทั้งสิ้น  

 

คดีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ สืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้วน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 กำหนด โดยเลี่ยงคำว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 

 

ขณะที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 5 กำหนดว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติใด ของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญบทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”  

 

ดังนั้น ฝ่ายค้านจึงยื่นต่อศาล เพราะเห็นว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้วน จึงเป็นการกระทำที่มิอาจใช้บังคับได้ และส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่การบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์  
 

 

คดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมิติเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213  ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคสาม และมาตรา 47(1) เนื่องจากเป็นการถวายสัตย์ต่อหน้าพระมหากษัตริย์ไม่ได้อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด  
 

 

นอกจากนี้การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ 

 

คดีขาดคุณสมบัติเนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สืบเนื่องจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน 7 พรรค ยื่นหนังสือ ให้กับ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นการขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นการดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) และมาตรา
98 (15) 

 

คดีนี้ ศาลมีคำวินิจฉัยว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช. มาจากการเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ โดยมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ที่เป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ  

 

ดังนั้น การทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นเพียงการเข้าสู่ตำแหน่งเพื่อให้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยเพียงเท่านั้น  

 

นอกจากนี้ตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นการแต่งตั้งที่ไม่ได้ขึ้นกับกฎหมาย ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา และการทำงานของรัฐ จึงไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (15) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 16 (6)   
 

 

คดีพักบ้านหลวง ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) เรื่องฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีมีการกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ พักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไป 6 ปีแล้ว และถือเป็นการรับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ 
 

คดีนี้ ศาลมีคำวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ เนื่องจากเป็นไปตามระเบียบภายในของกองทัพบก (ทบ.) ปี 2548 และยังชี้ว่ารัฐพึงจัดสรรที่พำนักให้ผู้นำประเทศ   

 

กรณีนี้ไม่ถือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของประเทศ ไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตัวเอง

 

คดีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี เป็นคดีที่ 4 ผมว่ารอด