“นิรโทษกรรม” หลอนคนไทย

28 ก.ย. 2565 | 00:30 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...กาแฟขม

***หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ 3822 ระหว่างวันที่ 29 ก.ย.- 1ต.ค.2565 โดย ...กาแฟขม  


*** วันเวลาว่องไวเหมือนสายน้ำไม่ย้อนทวนกลับหลัง เผลอแผล็บเดียวเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ไปซะแล้ว ข่าวดีข่าวร้ายปะปนกันไปในไตรมาส 4 นี้ ว่าที่เรื่องดีก่อน โควิดแม้จะไม่หมดไป แต่อันตรายน้อยลง คนติดน้อยลง รัฐบาลเซ็นประกาศยกเลิก โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว พร้อมกับการเห็นชอบยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หน่วยงานรัฐต่าง ๆ นำมาตรการตามกฎหมายเข้ามาแก้ไขปัญหาตามปกติ ตอกย้ำโควิดเข้าใกล้ปกติเต็มที ประชาชนมากกว่า 92% มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนถึง 143.16 ล้านโดส ขณะนี้มีรพ.สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 900 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 9,000 แห่ง บุคลากรทางการแพทย์ 4 แสนคน เตียงผู้ป่วย 73,000 เตียง มีผู้ป่วยโควิดนอนรักษา 4,800 คน คิดเป็น 6% ยารักษาโควิดมีพร้อมใช้ไป 4-5 เดือน ประชาชนยังรักษาได้ฟรี จากกองทุนสุขภาพที่ผู้ป่วยมีสิทธิ เช่น หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ เป็นต้น และฉุกเฉินข้ารับการรักษาได้ทุกที่ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐ หรือ เอกชน ตามสิทธิ UCEP Plus จนกว่าจะหายป่วย

*** เมื่อโควิดคลายหรือใกล้ปกติ การท่องเที่ยวเดินทางก็คึกคัก การฟื้นตัวของธุรกิจเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว ก็กำลังจะกลับมา ท่าอากาศยาน สายการบิน ทัวร์ ขนส่ง โรงแรม ร้านอาหาร คึกคัก คนเต็มแน่น ตามต่างจังหวัด สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญเต็มไปด้วยผู้คน เป็นสัญญาณที่ดี และมีการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้จะยังไม่เทียบเท่าสถานการณ์ก่อนหน้าโควิด อัตราเข้าพักของโรงแรมยังว่างอยู่บ้าง แต่สัญญาณดีจริงๆ ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนเมื่อเทียบดอลลาร์ อานิสงส์ท่องเที่ยวโค้งสุดท้าย น่าจะได้รับเต็มๆ พอให้หายใจหายคอได้บ้างหลังจากฝืดซบเซามานาน


*** อันว่าเรื่องที่ไม่ดี ยังมีอยู่ กรณีปัจจัยภายนอกกดดันกระแทกกระทบ ค่าครองชีพสูง เงินเฟ้อพุ่ง ทางการต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย เผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องฟันฝ่าวิกฤติในไตรมาสสุดท้ายนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า ก็จำต้องวางแผนกันให้ดีๆ โดยเฉพาะหนี้ ที่จะเพิ่มพูนจากดอกเบี้ยที่เร็วและแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ที่ยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐนำร่องไปก่อน การไหลเข้า-ออกของเงินทุนก็ปั่นป่วน ผันผวนในภาพใหญ่ ส่วนภาพที่เล็กลงมาลงถึงครัวเรือน รากหญ้า ต้องหาทางบริหารจัดการหนี้และดอกเบี้ยขาขึ้น ก็ขอให้ผ่านไปได้ด้วยกันทุกคนทุกครัวเรือน 
 

*** ไม่ค่อยดีเท่าไร เมื่อปัญหาส่อวนลูปอีกครั้งสำหรับการเมืองไทย การเมือง 2 ขั้ว ที่แบ่งแยกชัดเจน และโดยเฉพาะเมื่อมีการพูดถึงถี่ขึ้นๆ เรื่องการเลือกตั้ง การแลนด์สไลด์ การนิรโทษกรรม เอา “คนแดนไกล” กลับบ้าน สังคมไทยต้องสั่งสมวุฒิภาวะ เก็บรับความเจ็บปวด ในการเผชิญหน้าของ 2 ขั้วข้าง ก่อให้เกิดการสูญเสียในช่วงที่ผ่านมา ที่สำคัญต้องยึดหลักให้มั่น ไม่งั้นเดินกันไม่ไหว คดีทุจริต ที่มีการสอบสวนทวนความ ไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรม ตามพยาน หลักฐานทุกประการที่ตัดสินแล้ว จะยกเลิกด้วยการ “นิรโทษกรรม” แล้วกระบวนการยุติธรรมการตัดสินของศาลไทย ที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติและเป็นหลักมาช้านาน จะไม่ถูกทำลายลงไปหรือ  


แล้วต่อไปถ้ามีใครกระทำผิดลักษณะนี้ แล้วอาศัยมือจำนวนมากลากมา บอกว่ามาจากประชาชนล้นหลาม แล้วสามารถชะล้างการกระทำที่ไม่ชอบเลยหรือ แยกแยะกันให้ชัด ถ้าเป็นการกลั่นแกล้งโดยไร้พยานหลักฐาน หรือมีหลักฐานชัดว่า เป็นการกลั่นแกล้งในทางการเมือง จะแก้ไขให้ถูกต้องเป็นเรื่องที่ต้องกระทำและกระทำได้ แต่ถ้าเป็นกระบวนการตัดสินและไต่สวนที่ชอบแล้วก็ต้องตรองให้หนัก 


*** เลี้ยวไปที่การประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก(เอเปค) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ 18-19 พ.ย.นี้ เสมือนตบหน้ากันฉาดใหญ่ เมื่อผู้นำสหรัฐประกาศไม่มาประชุม แต่เลือกไปงานแต่งงานหลานสาวที่ทำเนียบขาวแทน ส่งรองประธานาธิบดี กมลา แฮริส มาแทน ก่อนหน้านั้นวัน 2 วัน โจ ไบเดน ตอบรับเข้าร่วมประชุมกลุ่ม G-20 ที่อินโดนีเซีย เป็นเจ้าภาพ ว่าที่จริงแล้วการประชุมเอเปค เป็นการประชุมระดับหัวหน้ารัฐบาลของแต่ละเขตเศรษฐกิจสมาชิก พอดีพอร้ายผู้นำเบอร์ 1 ของแต่ละเขตจะมาด้วยตัวเองทั้งสิ้น แต่การไม่มาเพราะภารกิจส่วนตัว ฟังดูแปลกๆ แปร่งๆ พิกล