การเมืองเลว กับ การรัฐประหาร

21 ก.ย. 2565 | 00:30 น.

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน โดย...ประพันธุ์ คูณมี

ตั้งใจจะเขียนและพูดถึงเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ แต่เมื่อเห็นนักการเมือง สมุนบริวารทักษิณ นักวิชาการเลือกข้าง ออกมาแสดงความคิดเห็น และวิพากษ์การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในวาระครบรอบ 16 ปี แบบพูดเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น 


รวมถึงพวกแกนนำเผาบ้านเผาเมือง ที่พยายามโยนความผิดไปให้คนอื่นทำนองเป็นคนสร้างปมมหากาพย์ความยัดแย้งในสังคม ชนิดที่ไม่ยอมตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงาตัวเองที่เป็นต้นตอของปัญหา ทำให้ต้องเปลี่ยนใจหันมาพูดความจริงจากประสบการณ์ ในเรื่องการเมืองเลวกับการรัฐประหาร น่าจะตรงกับบรรยากาศมากกว่า เพราะไม่ต้องการเห็นทัศนะที่ผิดๆ ของคนเหล่านั้นพ่นพิษใส่สังคมแต่ฝ่ายเดียว 

ผู้เขียนมีชีวิตและประสบการณ์กับ การเมืองในระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เคยร่วมเรียกร้องและต่อสู้เพื่อหลักการ อุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตย มาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนได้รัฐธรรมนูญและบ้านเมืองมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ได้รู้ได้เห็นว่า บ้านเมืองหลังจากนั้น นักการเมืองนักเลือกตั้ง เป็นใครมาจากไหนได้อำนาจแล้วพวกเขาใช้อำนาจไปอย่างไร


ส่วนการรัฐประหาร ก็มีประสบการณ์ตรงรวม 4 ครั้ง ตั้งแต่ 6 ตุลาคม 2519 ที่นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ , 23 กุมภาพันธ์2534 นำโดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ,19 กันยายน 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่มี พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ  และ ครั้งสุดท้ายก็คือ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

เฉพาะการรัฐประหารสองครั้งหลังนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ฝ่ายการเมือง นักกิจกรรมที่อ้างประชาธิปไตยบังหน้า ต่างพยายามจะถอดบทเรียน การเคลื่อนไหวทางการเมือง สร้างชุดความคิดต่อต้านการรัฐประหาร โดยท้าทายว่ามีอีกเมื่อไหร่เจอกัน บ้างก็เสนอว่าให้บัญญัติความผิดไว้ในกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ เพื่อลงโทษแก่ผู้กระทำรัฐประหารไปโน้นเลย ซึ่งไม่รู้ว่าถึงเวลามีเหตุการณ์รัฐประหารเกิดขึ้นจริง กฎหมายจะมีผลบังคับได้หรือไม่ และโดยมิได้มองถึงต้นเหตุแท้จริงว่า รัฐประหารเกิดขึ้นได้เพราะเหตุใด และนักการเมืองที่เป็นต้นเหตุควรรับผิดชอบอย่างไร


จากที่ได้บทเรียนและอยู่กับการเมืองมาทั้งสองรูปแบบดังกล่าว ขอพูดแบบฟันธงตรงไปตรงมาว่า การรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ สองครั้งหลังสุด ต้นเหตุมาจากการเมืองเลวโดยแท้ครับ  


นับแต่ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่มีการเมืองช่วงใดเลวร้ายเท่า "ระบอบทักษิณ" เพราะเป็นยุค โกง ทุจริต ใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อตนเองและพวกพ้อง จนได้ชื่อว่า "โคตรโกงและโกงกันทั้งโคตร" ถูกแฉถูกเปิดโปงเพียงใด ประชาชนจับได้ไล่ทันอย่างไร ก็ด้านหน้าไม่เคยแสดงความรับผิดชอบใดๆ ในการเลือกตั้งมีการโกงเลือกตั้ง จ้างพรรคเล็กพรรคน้อยมาลงแข่งเลี่ยงกฎหมาย จน กกต.บางคนต้องติดคุก เพราะทำผิดช่วยนักการเมืองโดยมิชอบ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค เพิกถอนสิทธ์ทางการเมืองก็ไม่เข็ด 


ที่เลวร้ายที่สุดเมื่อหลุดพ้นจากอำนาจ ถูกประชาชนขับไล่ แทนที่จะสำนึกผิด กลับเคียดแค้นใช้เงินที่ทุจริตคดโกงแผ่นดิน ไปใช้จ้างพวกนักกิจกรรมรับจ้าง พวกนักประชาธิปไตยจอมปลอม กลุ่มปฏิปักษ์ต่อสถาบัน ปลุกปั่นสร้างม๊อบประชาชนให้มาปะทะกับประชาชน ก่อการจลาจลวุ่นวาย เผาบ้านเผาเมือง เผาประเทศตัวเอง ทำทุกวิถีทางให้ตนเองได้กลับมามีอำนาจ แม้กระทั่งสนับสนุนขบวนการล้มเจ้า ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ นักการเมืองเลวยังกล้าทำ จนกระทั่งถ่ายทอดมรดกบาปนี้มาสู่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ สร้างนวัตกรรมการโกงในโครงการรับจำนำข้าว จนประเทศเสียหายหลายแสนล้าน ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้คนโกง ทั้งหมดล้วนเป็นพฤติกรรมอันชั่วร้าย ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในระบอบการเมืองที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยมาก่อนเลย


นี่คือ ต้นเหตุแท้จริงของปัญหาที่นำไปสู่การรัฐประหาร เพราะบ้านเมืองภายใต้การปกครองของ "ระบอบทักษิณ" เต็มไปด้วยการทุจริต สร้างความเสียหายร้ายแรงกับบ้านเมือง สังคมไร้ความสงบสุข รัฐบาลใช้อำนาจคุกตามเข่นฆ่าประชาชนที่เห็นต่าง การชุมนุมตามสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถูกลอบทำร้าย ด้วยระเบิด อาวุธสงครามนานาชนิด กระทั่งสั่งให้ตำรวจสังหารเข่นฆ่าประชาชนในการชุมนุม จนได้รับบาดเจ็บพิการหลายพันคน เสียชีวิตนับร้อย ในเวลากลางวันแสกๆ สภาพการเมืองที่เลวร้ายดังกล่าว ได้ทำลายบรรยาการการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ทำลายเศรษฐกิจของประเทศ บ้านเมืองไร้ความสงบสุข เหตุเพียงเพราะความดื้อรั้นสันดานโกง ของนักการเมือง "ระบอบทักษิณ" ทั้งสิ้น 


นี่คือความจริง การรัฐประหารจึงเป็นเพียงปลายเหตุ และเป็นการมาช่วยหยุดยั้งความเลวร้ายของการเมือง คืนความสงบให้สังคม หากจะ ประณามรัฐประหาร วิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐประหารไม่ดีอย่างไร ก็ต้องวิพากษ์และโทษการเมืองที่เลวร้ายนั้นด้วย ควรต้องมองให้เห็นด้านดีและไม่ดีทั้งสองด้าน จึงจะเป็นธรรม


การที่มีประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ว่ากลุ่มพันธมิตรฯ หรือ กปปส. ออกมาขับไล่รัฐบาลโกง เปิดโปงนักการเมืองเลว ปกป้องสถาบัน อย่างกล้าหาญนั้น ถือเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยที่ดีตามรัฐธรรมนูญ เป็นความกล้าหาญที่ควรได้รับการชื่นชม มิใช่เป็นการสร้างความขัดแย้งในสังคมแต่อย่างใด เพราะการโกงประเทศชาติ ปล้นภาษีประชาชนของนักการเมือง คือ การสร้างความขัดแย้งกับผลประโยชน์ประชาชนโดยตรง 


ยิ่งการที่นักการเมืองไปปลุกปั่นประชาชน สร้างม็อบขึ้นมาเชลียร์ตน ขนคนมาชุมนุมสนับสนุนตน นั่นคือ การสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนโดยตรง ต้นตอของความขัดแย้งในสังคม ที่เกิดขึ้นก็มีแต่เฉพาะในยุคสมัย "ระบอบทักษิณ" เท่านั้น การเมืองแบบประชาธิปไตยในยุคอื่นๆ ไม่มีปรากฏให้เห็นแต่อย่างใด ดังนั้น หากจะโทษว่าใครก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ก็ต้องโทษนักโทษหนีคดีคนนั้นคือ ตัวการ


ครบรอบ 16 ปี แห่งการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือ 8 ปี ของการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 หากจะถอดบทเรียนด้วยการเคารพต่อความจริง เรียนรู้จากประวัติศาสตร์และเคารพต่อสัจจะ จึงต้องยอมรับเสียก่อนว่า รัฐประหารที่ล้มเหลวก็มีให้เห็นหลายครั้ง แต่รัฐประหารสองครั้งหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งครั้งปัจจุบัน ต้องถือว่าเป็นการรัฐประหารที่ได้รับความสำเร็จมากกว่าความล้มเหลว เป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ที่หัวหน้ารัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรี โดยการปฏิวัติและโดยการเลือกตั้ง ติดต่อกันถึง 8 ปี โดยยังไม่ถูกขับไล่ให้พ้นตำแหน่ง และยังสามารถบริหารบ้านเมืองมาได้โดยต่อเนื่อง 


ในขณะที่พรรคการเมืองและนักการเมือง มิอาจสามารถรวมตัวรวมเสียงเอาชนะได้ ประวัติศาสตร์นี้คุณจะยอมหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่มันเกิดขึ้นแล้วแบบที่ไม่มีหัวหน้าคณะรัฐประหารคนใด เคยทำได้มาก่อน หากมิใช่เพราะการเมืองเลวจริงๆ เรื่องเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้นได้


ทั้งหมดที่กล่าวมา ใครจะถอดบทเรียนอย่างไร หรือ จะสรุปอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้เขียนเคารพและก็ต้องปล่อยให้แต่ละคนแสดงความคิดเห็น ตามมุมมองของแต่ละคน เป็นสิทธิเสรีภาพของท่านโดยชอบ ส่วนผู้เขียนขอสรุปว่า "เพราะการเมืองเลวเท่านั้น จึงทำให้รัฐประหารเกิดขึ้น" หากไม่ต้องการรัฐประหาร ก็อย่าทำการเมืองให้เลว จงทำการเมืองให้สุจริต ใช้การเมืองประชาธิปไตยให้สร้างสรรค์ สร้างบ้านเมืองให้ก้าวหน้ามั่นคงโดยแท้จริง มีแต่การเมืองที่มีคุณธรรมเท่านั้น จึงจะหยุดการรัฐประหารได้