เตือนล่าสุด! ชิ้นส่วนจรวดตกสู่โลกบ่าย-ค่ำนี้ ไทยเสี่ยงแค่ 1.2%

04 พ.ย. 2565 | 04:49 น.

GISTDA แจงจากระบบ ZIRCON ล่าสุด จรวดลองมาร์ช5บี วาย4 ขณะะนี้อยู่ห่างพื้นโลกเฉลี่ย 146 กิโลเมตร มีแนวโน้มตกในช่วงหลัง 14.00 น.ถึงกลางคืนของวันศุกร์ที่ 4 พ.ย. 2565 ระบุไทยมีความเสี่ยงเหลือแค่ 1.2%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า GISTDA โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ แจ้งเตือนล่าสุด (4 พ.ย. 65) “ขณะนี้จรวดลองมาร์ช5บี วาย4 โคจรห่างจากพื้นโลกโดยเฉลี่ยประมาณ 146 กิโลเมตร (ตามเส้นแนวการโคจรดังภาพ) และมีแนวโน้มจะตกในช่วงหลังเวลา 14.00 น.ถึงกลางคืนของวันศุกร์ที่ 4 พ.ย. 2565” โดยจุดที่คาดว่าจะเป็นจุดตกของชิ้นส่วนจรวดฯ ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 

 

การคาดการณ์จะได้ผลแม่นยำก็ต่อเมื่อ วัตถุอวกาศอยู่ห่างจากพื้นโลกโดยเฉลี่ยไม่เกิน 130 กิโลเมตร ซึ่งระยะห่างของวัตถุอวกาศกับพื้นโลก มีผลอย่างยิ่งต่อการวิเคราะห์ และคาดการณ์จุดตก ดังนั้น ยิ่งใกล้โลกเท่าไรจะยิ่งแม่นยำมากขึ้น

ทั้งนี้ การแจ้งเตือนชิ้นส่วนจรวดตกสู่โลกในครั้งนี้ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศของ GISTDA ใช้ระบบ ZIRCON ที่ทีมนักวิจัยของ GISTDA พัฒนาขึ้น เพื่อทำการวิเคราะห์ ติดตาม และคาดการณ์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล

 

สำหรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย วันนี้มีโอกาสได้รับผลกระทบเพียง 1.2% ซึ่งถือว่าน้อยมาก อย่างไรก็ตาม GISTDA จะติดตามสถานการณ์และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของการตกของชิ้นส่วนจรวดนี้ตลอด 24 ชั่วโมง และจะรายงานความคืบหน้าให้ทราบต่อไป
 

สำหรับปฏิบัติการของลองมาร์ช 5บี วาย4 ในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อนำโมดูลเหมิงเถียน (Mengtian) มาเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong Space Station) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้นักบินอวกาศทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยบนอวกาศ อาทิ การทดลองด้านฟิสิกส์ของไหล, วัสดุศาสตร์, เทคโนโลยีอวกาศ และอื่น ๆ เป็นต้น

เตือนล่าสุด! ชิ้นส่วนจรวดตกสู่โลกบ่าย-ค่ำนี้ ไทยเสี่ยงแค่ 1.2%