9 จังหวัดใต้อ่วม เสี่ยง "น้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก" ช่วง 17– 22 ต.ค. 65

16 ต.ค. 2565 | 21:00 น.

ปภ. แจ้งเตือนประชาชนภาคใต้ 9 จังหวัด เฝ้าระวัง "น้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง" ช่วงวันที่ 17 – 22 ต.ค. 65

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 9 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 17 - 22 ต.ค. 65

 

โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (288/2565) ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2565 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า พายุโซนร้อนกำลังแรง "เนสาท" มีศูนย์กลางอยู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 19 - 20 ตุลาคม 2565

 

ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้พายุจะอ่อนกำลังลงตามลำดับอย่างรวดเร็ว และในช่วงวันที่ 17 - 21 ตุลาคม 2565 ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่าง ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 51/2565 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2565 ให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 17 - 22 ตุลาคม 2565 ดังนี้

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

1.ชุมพร

  • อำเภอเมืองฯ
  • หลังสวน
  • ละแม
  • สวี
  • พะโต๊ะ

2.สุราษฎร์ธานี

  • อำเภอพระแสง
  • ท่าฉาง
  • คีรีรัฐนิคม
  • ท่าชนะ
  • บ้านนาสาร
  • ไชยา
  • พนม
  • พุนพิน
  • เกาะสมุย
  • เกาะพะงัน

3.นครศรีธรรมราช

  • อำเภอเมืองฯ
  • ท่าศาลา
  • ปากพนัง

4.ระนอง

  • ทุกอำเภอ

5.พังงา

  • อำเภอเมืองฯ
  • กะปง
  • ท้ายเหมือง
  • ตะกั่วป่า
  • ทับปุด
  • ตะกั่วทุ่ง

6.ภูเก็ต

  • ทุกอำเภอ

7.กระบี่

  • อำเภออ่าวลึก

8.ตรัง

  • อำเภอห้วยยอด
  • ปะเหลียน
  • ย่านตาขาว

9.สตูล

  • อำเภอเมืองฯ

 

พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง

1.จังหวัดระนอง

  • อำเภอเมืองฯ
  • สุขสำราญ
  • กะเปอร์

2.พังงา

  • อำเภอเมืองฯ
  • เกาะยาว
  • ทับปุด
  • ตะกั่วทุ่ง
  • ท้ายเหมือง
  • ตะกั่วป่า
  • คุระบุรี

3.ภูเก็ต

  • อ.ทุกอำเภอ

4.กระบี่

  • อำเภอเมืองฯ
  • คลองท่อม
  • เกาะลันตา
  • เหนือคลอง
  • อ่าวลึก

5.ตรัง

  • อำเภอกันตัง
  • สิเกา
  • ปะเหลียน
  • หาดสำราญ

6.สตูล

  • อำเภอเมืองฯ
  • ละงู
  • มะนัง
  • ทุ่งหว้า

กอปภ.ก. จึงได้ประสาน 9 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยโดยติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

 

โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักหรือฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ที่อาจส่งผลให้เกิดอุทกภัย และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำ น้ำตก ถ้ำลอด

 

หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่ สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณการแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะห้ามลงเล่นน้ำและประกอบกิจกรรมทางทะเลด้วยความระมัดระวังในช่วงคลื่นลมแรง หากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นให้จังหวัดพิจารณาห้ามการเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด

 

รวมถึงประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย อีกทั้งจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) และนำเครื่องมือเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำจุดเสี่ยงอันตรายและพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนทันทีตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ขอให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นและปฏิบัติตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด

 

ท้ายนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT และหากความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ "ปภ.รับแจ้งเหตุ1784" โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป

 

9 จังหวัดใต้อ่วม เสี่ยง "น้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก" ช่วง 17– 22 ต.ค. 65