นักวิชาการยืนยันวันนี้ - 7ต.ค.ยังไม่มี"พายุลูกใหม่"เข้าไทย

03 ต.ค. 2565 | 08:20 น.

อัพเดทพายุลูกใหม่เข้าไทย "ทีมกรุ๊ป" ยืนยันช่วงวันนี้ -7 ตุลาคมยังไม่มีการก่อตัวของพายุที่จะเข้าไทย ส่วนฝนที่ตกเป็นผลมาจากร่องความกดอากาศต่ำ

นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จํากัด (มหาชน) หรือ ทีมกรุ๊ป โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Chawalit Chantararat " ระบุว่า พายุโนรูได้สลายตัวไปในพม่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ส่วนกรณีที่ข่าวลือว่าจะมีพายุตามโนรูมาอีก 2 ลูกนั้น "ไม่เป็นความจริง" โดยตั้งแต่วันที่ 1 - 7 ตุลาคมนี้ยังไม่มีการก่อตัวของพายุใดใดที่จะมีโอกาสมาไทย

 

ด้านฝนที่ตกลงมาในตอนนี้ คงเหลือแต่ ลักษณะตามธรรมชาติของประเทศไทย คือมีร่องฝน (ร่องความกดอากาศต่ำ) ที่พาดผ่านภาคเหนือ โดยมีหย่อมฝน (ความกดอากาศต่ำ) อยู่ที่ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ และร่องฝนนี้ จะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตามลำดับ โดยปลาย ต.ค. จะมาพาดผ่านอยุธยา กรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้ฝนตกเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ ที่อยู่ในร่องฝนนี้ ส่วนในเช้าวันที่ 2 ตุลาคม หย่อมฝนเลื่อนตัวมาอยู่ในเชียงใหม่ตอนล่างเต็มที่ ทำให้ฝนตกหนักอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
 

ในเวลาเดียวกันนี้ มีพายุอยู่ในแปซิฟิกอีก 2 ลูกที่ไม่มาเมืองไทยแน่นอน (มีคนไปเล่าลือ ว่า มีพายุตามโนรูมาอีก 2 ลูก) คือ 

 

กุหลาบ (#17: Kulap) เดิมเคยเคลื่อนที่ในทิศทางเดียว ต่อท้ายพายุโนรูมา แต่ได้ถูกความกดอากาศสูงจากประเทศจีนพัดลงมาปะทะไว้ จึงเลี้ยวขวากลับตัว เพื่อนที่อยู่ในทะเลทางตะวันออกของญี่ปุ่นและคาดว่าจะสลายตัวในวันที่ 1 ต.ค.65 นี้ เช่นกัน


 
โรเก (#18: Roke) เดิมเคยเคลื่อนที่ในทิศทางเดียว ต่อท้ายพายุโนรูมา แต่ได้ถูกความกดอากาศสูงจากประเทศจีนพัดลงมาปะทะไว้ จึงเลี้ยวขวา เคลื่อนที่อยู่ในทะเล ใกล้ชายฝั่งทางตะวันออกของญี่ปุ่น และคาดว่าจะสลายตัวในวันที่ 1 ต.ค.65 นี้ เช่นกัน
 

 

อัพเดทพายุลูกใหม่เข้าไทย "ทีมกรุ๊ป" ยืนยันช่วงวันนี้ -7 ตุลาคมยังไม่มีการก่อตัวของพายุที่จะเข้าไทย

 

ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก"เตือนภัยพิบัติ วาตภัย ฝนฟ้า พายุ"ได้โพสต์ข้อความว่า "จับตาพายุลูกใหญ่เส้นทางเดิม จะซ้ำเติมหรือไม่" โดยลักษณะการก่อตัวคาดจะเริ่มก่อตัว12/10/2565บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะลู่ซอนประเทศฟิลิปปินส์ มุ่งหน้าทิศตะวันตกเฉียงใต้ ข้ามเกาะลูซอนมุ่งหน้าทะเลจีนใต้ตอนกลาง 16.17/10/2565 มุ่งหน้าขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ทะลุเข้าลาวมุ่งหน้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย 

 

อย่างไรก็ตามทางเพจฯได้ระบุเพิ่มเติมว่า แบบจำลองยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก โปรดติดตามการอัพเดทครั้งต่อไป