ย้อนรอย 4 ปี คดีจำนำข้าว“ยิ่งลักษณ์” ฉากสุดท้ายยังอึมครึม

02 ต.ค. 2564 | 10:38 น.

เปิดแฟ้ม ย้อนรอย 4 ปี คดีจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์” ฉากสุดท้ายยังอึมครึม ทั้งปริศนา “ข้าวล่องหน” ร่วมล้านตัน ในมือ สตง.ที่ยังไม่หงายไพ่เฉลย รอลุ้นต่อไป ขณะที่สมาคมโรงสีฯ ไขความจริง แจงศาล ปักหลักสู้ พลิกชนะคดีกว่า 90%

พลิกประวัติศาสตร์ย้อนหลังไป 4 ปี เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560  หากยังจำกันได้ วันนั้นวงการข้าว นักการเมือง และเกษตรกรชาวนา  ต่างลุ้นกับการฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม. 22/2558 ระหว่างอัยการสูงสุด โจทย์ นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร(อดีตนายกรัฐมนตรี) จำเลย เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ใน "คดีจำนำข้าว"

 

ในวันนั้น เจ้าหน้าที่ประจำศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง ได้แจ้งให้สื่อมวลชนที่ไปรอทำข่าวทราบว่าองค์คณะผู้พิพากษาได้เดินทางมาประชุมตั้งแต่เวลา 07.00 น. เพื่อจัดทำคำวินิจฉัยกลางในคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว

 

เวลาต่อมาศาลฯ ได้อ่านพิพากษา ( คำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม. 22/2558) ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยสรุปได้พิพากษา จำคุก น.ส. ยิ่งลักษณ์ จำเลยในคดีนี้ เป็นเวลา 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และความผิดกฎหมาย ป.ป.ช. และให้ออกหมายบังคับคดี นำตัวมารับโทษ ทั้งนี้ในวันดังกล่าวนางสาวยิ่งลักษณ์ จำเลยในคดีไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา แต่ได้ส่งทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจเข้ารับฟัง (ปัจจุบันนางสาวยิ่งลักษณ์ยังหลบหนีความผิดและใช้ชีวิตในต่างแดน) 

 

จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นระยะเวลา 4 ปี ผ่านมา 2 รัฐบาล รัฐบาลแรก ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ “รัฐบาลประยุทธ์ 2” ซึ่งได้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักการเมือง เอกชน บริษัทประกันภัย บริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) เจ้าของคลังรับฝากเก็บข้าว โรงสี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ชดใช้ความเสียหาย

เพื่อเรียกเงินกลับคืนคลังที่โครงการได้สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติกว่า 8.67 แสนล้านบาท โดยมีการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาในส่วนของคลังรับฝากเก็บข้าว ที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ดูแลรับผิดชอบทั้งสิ้น 1,524 คดี

 

อัพเดทโครงการจำนำข้าวเปลือก

 

 

ขณะที่ยังมีข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่ถูกระบุว่ามีความคลาดเคลื่อนทางบัญชีหายไปกว่า 9.4 แสนตัน ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ปรากฏความชัดเจนของความคืบหน้า และสังคมยังรอคำตอบ เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่โครงการรับจำนำข้าวยังปิดบัญชีไม่ลง

 

สถานะ ณ ปัจจุบันยังมีข้าวล็อตสุดท้ายในโครงการรับจำนำข้าว แบ่งเป็นในส่วนของ อคส. กว่า 2.3 แสนตัน ซึ่งได้จำหน่ายแล้วและอยู่ระหว่างการรับมอบกว่า 1.6 หมื่นตัน, จำหน่ายแล้วผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบ / เจ้า ของคลังยึดหน่วง กว่า 1.76 แสนตัน น้ำหนักสูญหาย (รอปรับบัญชีตามหลักเกณฑ์) กว่าหมื่นตัน ข้าวหาย (อยู่ระหว่างดำเนินคดี) 3,587.303 ตัน และ ข้าวเปียกน้ำ/ไฟไหม้ 26,398.648 ตัน

 

เกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต

 

นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการ อคส. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุดข้าวในคลังที่ อคส.รับผิดชอบเหลือ 9.7 หมื่นตัน จะขออนุมัติคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เพื่อรอการระบาย เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว จะระบายให้เสร็จสิ้นตามกรอบที่ นบข.กำหนด

 

ขณะแหล่งข่าวจาก อ.ต.ก. เผยว่า จำนวนข้าวที่เหลือในคลังของ อ.ต.ก. ณ ปัจจุบันกว่า 8.1 หมื่นตัน แบ่งเป็น ข้าวเพื่อการบริโภคกว่าหมื่นตันที่อยู่ระหว่างรับมอบ  ส่วนที่เหลืออีก 7.1 หมื่นตัน  เป็นข้าวอุตสาหกรรม ได้ประกาศเปิดประมูลแล้ว มีกำหนดยื่นซอง และประกาศผู้ชนะการประมูลในวันเดียวกัน ( 15 ต.ค.นี้) โดยเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) ให้จ่ายเป็นเงินสดทั้งหมด ถ้าเลยวันกำหนดรับข้าวจะปรับเป็นรายวัน และให้ผู้ชนะการประมูลจ่ายค่าเช่าคลังเองทั้งหมด

 

อย่างไรก็ดีฉากสุดท้ายของโครงการรับจำนำข้าวก็ยังจบไม่ลง เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการฟ้องร้องดำเนินคดี 1,524 คดี มีผู้ที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ เช่น โรงสีข้าวที่ประกอบการคลังสินค้าให้เช่าเพื่อเก็บข้าวสารในโครงการรับจำนำข้าวที่ยังมีคดีความกับคู่สัญญาที่เป็นตัวแทนของภาครัฐคือ อคส. และ อ.ต.ก.ที่ได้ออกมาโต้แย้ง โดยบางรายระบุว่าถูกกลั่นแกล้ง เช่น ถูกตีเกรดคุณภาพข้าวไม่เป็นธรรม ขอซื้อข้าวในราคารับจำนำก็ถูกปฏิเสธ แถมยังพ่วงคดีมาให้ด้วย

 

ดังนั้นเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของสมาชิกที่ประกอบการคลังสินค้าที่มีปัญหากับภาครัฐดังกล่าว นายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับสมาชิก มีนายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล  อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ

 

บรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล

 

นายบรรจง กล่าวว่า จากผลการต่อสู้คดี มีสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญา และถูกปรับไปเพียงแค่ 1-2 คลังเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่จากการดูสัญญาฝากเก็บ มีเหตุผลที่สามารถชี้แจงศาลได้ เช่น ข้าวที่เก็บมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพไปตามธรรมชาติ การตรวจข้าวของสภาหอการค้าฯ บางครั้งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ควรจะเกิดขึ้น การขายข้าวล่าช้าทำให้เกิดความเสียหายด้านราคา เป็นต้น ทำให้ 90% ศาลตัดสินให้ชนะคดี อีก 10% ที่แพ้เพราะไม่รู้หลักหรือข้อกฎหมาย หรือไม่อยากต่อสู้แล้ว

 

“เรื่องคดีความยิ่งยืดเยื้อยิ่งกระทบผู้ประกอบการ เพราะ 7 ปี ที่ผ่านมาเรามีกำลังการผลิต(กำลังสีข้าว) 350% ของผลผลิต แต่ตอนนี้เหลือแค่ 150% ซึ่งมากกว่าผลผลิตของข้าวไม่มากนัก เป็นปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ ทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบันจะต้องเสียเงินประกันรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นอยากให้จบเร็ว ช่วยกันปรับข้อเท็จจริง เพื่อให้ปัญหาจบลงโดยเร็ว เพราะถ้าจบช้ายิ่งเสียหายในภาพรวม” นายบรรจง กล่าว

 

บทสรุปโครงการและคดีรับจำนำข้าวจะเป็นอย่างไร รัฐบาลประยุทธ์ จะสามารถปิดฉากได้หรือไม่ หรือต้องรอไปถึงรัฐบาลหน้าคงต้องติดตามตอนต่อไป