ฟาวิพิราเวียร์-ไอเวอร์เม็กติน หมอธีระวัฒน์แนะขายเสรีฆ่าไวรัสทันการณ์

30 ก.ย. 2564 | 01:57 น.

หมอธีระวัฒน์แนะเปิดขายยาฟาวิพิราเวียร์ ไอเวอร์เม็กติน ฟ้าทะลายโจรแบบเสรี กินเลยเมื่อมีอาการไม่ต้องรอไปโรงพยาบาลให้หมอจ่ายยา จึงจะฆ่าไวรัสได้ทันทีและทันการณ์

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
จาก อาจารย์ สันต์ (นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์)
ทำการรักษาผู้ป่วยด้วยยาฆ่าไวรัสที่ได้ผลทันทีตั้งแต่ผู้ป่วยยังอยู่นอกโรงพยาบาล ซึ่งในเมืองไทยตรงนี้หากอาศัยระบบหาหมอจ่ายยาอย่างปัจจุบันจะไม่ทันกิน ต้องเปลี่ยนเป็นระบบสอนให้ประชาชนรักษาตัวเองแล้วเปิดให้มียาที่ใช้รักษาตัวเองไม่ว่าจะเป็นฟ้าทะลายโจร ไอเวอร์เม็กติน ฟาวิพิราเวียร์ ซื้อขายกันได้อย่างเสรี มีอาการกินเลย หรือสัมผัสคนติดเชื้อมาก็กินเลย ไม่ต้องรอไปโรงพยาบาลให้หมอจ่ายยา จึงจะฆ่าไวรัสได้ทันทีและทันการณ์      
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทย วันที่ 30 กันยายน 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 11,646 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,526 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 120 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,574,612 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 107 ราย หายป่วย 10,887 ราย กำลังรักษา 116,075 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,443,247 ราย 

สำหรับยาไอเวอร์เม็กติน (Ivermectin) นั้นเป็นยาฆ่าพยาธิ ซึ่งใช้รักษาโรคที่มีสาเหตุจากพยาธิตัวกลม เช่น โรคพยาธิไส้เดือน โรคพยาธิตัวจี๊ด และโรคจากปรสิตบางชนิด เช่น โรคหิด หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ตามดุลยพินิจของแพทย์  เนื่องด้วยยาไอเวอร์เมคติน มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

คำเตือนในการใช้ยาไอเวอร์เม็กตินมีดังนี้
แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยานี้หรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงการแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ

แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้อยู่ทุกชนิด ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้
ห้ามเริ่มใช้ยา หยุดยา หรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการใช้ยาด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ
ควรปรึกษาแพทย์หากใช้ยานี้พร้อมกับยาวาร์ฟาริน เพราะอาจจำเป็นต้องตรวจเลือดอยู่เสมอ
ระหว่างที่ใช้ยานี้ ควรระมัดระวังเวลาลุกขึ้นยืน เดินขึ้นหรือลงบันได เพราะยานี้อาจทำให้เวียนศีรษะหรือหมดสติได้ แม้มีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้น้อยก็ตาม
หลังจากใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรตรวจอุจจาระซ้ำ เพื่อตรวจสอบว่าหายจากโรคที่เป็นอยู่หรือไม่
ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยานี้
ผู้ที่กำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อบุตร
ยานี้อาจมีปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์และยาเลวาไมโซล จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา Ivermectin หากกำลังใช้ยาเลวาไมโซลอยู่

ไอเวอร์เม็กติน
สำหรับปริมาณการใช้ยาไอเวอร์เม็กตินนั้น ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้ โรคพยาธิไส้เดือน สำหรับฆ่าพยาธิ Ascaris Lumbricoides ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 150-200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม รับประทานครั้งเดียว ส่วนเด็กน้ำหนักตัวมากกว่าหรือเท่ากับ 15 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 150-200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม รับประทานครั้งเดียว

ขณะที่ โรคพยาธิสตรองจิลอยด์ ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม รับประทานครั้งเดียว เด็กน้ำหนักตัวมากกว่า 15 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม รับประทานครั้งเดียว  โรคพยาธิตัวจี๊ด สำหรับฆ่าพยาธิ Gnathostoma Spinigerum ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 2 วัน เด็กน้ำหนักตัวมากกว่าหรือเท่ากับ 15 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 2 วัน

การใช้ยาไอเวอร์เม็กตินตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ และผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องมีการปรับปริมาณการใช้ยาตามเหมาะสม หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
โดยควรรับประทานยาในขณะท้องว่าง และดื่มน้ำเปล่าตาม โดยควรดื่มน้ำให้มาก นอกจากแพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำน้อย  ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น แจ้งให้แพทย์ทราบหากใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง หากสงสัยว่าตนเองใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากแสงแดด ความชื้น ความร้อน และห่างจากสายตาเด็กหรือสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงปรึกษาเภสัชกรถึงวิธีการกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้ว
สำหรับผลข้างเคียงจากการใช้ยาไอเวอร์เม็กตินอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ระคายเคืองผิว หรือมีอาการคัน คลื่นไส้ อาเจียน ไอ เจ็บคอ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ท้องเสีย ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ หมดแรง หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิต ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา อย่างไรก็ตาม หากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ขณะเดียวกันหากหากพบอาการแพ้ยา ได้แก่ ผื่นคัน ลมพิษ ผิวบวมแดง มีตุ่มพุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรืออาจไม่มีไข้ หายใจเสียงดัง แน่นหน้าอกหรือลำคอ มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ หน้าบวม ปากบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม หรือคอบวม เวียนศีรษะรุนแรง หรือหมดสติ การมองเห็นเปลี่ยนแปลง เจ็บตา หรือระคายเคืองตาอย่างรุนแรง ระคายเคืองผิวอย่างรุนแรง ตัวบวม หรือต่อมต่าง ๆ บวมโต นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน
ขณะที่ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เป็นยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส SARS CoV2 ที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 ปัจจุบันยาฟาวิพิราเวียร์ถือเป็นยาหลักในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ตามแนวทางการดูแลรักษา COVID-19 โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากยานี้มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณไวรัสได้ดี และจากการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังของผู้ป่วย COVID-19 ในประเทศไทย พบว่าการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะรุนแรงของ COVID-19

ฟาวิพิราเวียร์
ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาต้านเชื้อไวรัสที่อยู่ในสูตรยารักษาผู้ป่วย COVID-19 ของไทย โดยใช้ควบคู่ไปกับยาอื่นและได้ผลดี ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาต้านไวรัสที่ใช้กับไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอาร์เอ็นเอไวรัสหลายชนิด
สำหรับในประเทศไทยยาฟาวิพิราเวียร์ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วย COVID-19 เป็นกรณีพิเศษและจากการเก็บข้อมูลย้อนหลังพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ มีความปลอดภัย สามารถลดความรุนแรงและการสูญเสียจาก COVID-19 ได้ โดยองค์การเภสัชกรรมได้ทำการวิจัยและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิฟิราเวียร์ ในระดับห้องปฏิบัติการได้เรียบร้อยแล้ว
ยาฟาวิพิราเวียร์จะออกฤทธิ์ 2 แบบ คือ ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสและทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ คือ เข้าไปยับยั้งเอนไซม์ RNA-dependent RNA polymerase,RdRP ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีในไวรัสเท่านั้น เมื่อยาเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นสาร Active Form = favipiravir-ribofuranosyl-5′-triphosphate (RTP) ให้ไวรัสกลายพันธุ์จนภูมิต้านทานในร่างกายมนุษย์สามารถเข้าไปกำจัดไวรัสจนหมด หรือเหลือปริมาณน้อยจนไม่สามารถก่อโรคในร่างกายได้อีก
แพทย์จะพิจารณาเริ่มยาฟาวิพิราเวียร์ในผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบ ที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปี มีโรคประจำตัว ดังนี้ โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน รวมถึงในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ยาฟาวิพิราเวียร์อยู่ในรูปแบบยาเม็ด ขนาดยาที่ใช้สำหรับผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 9 เม็ดทุก 12 ชั่วโมงในวันแรก และลดเหลือครั้งละ 4 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ ผู้ที่น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม ขนาดยาจะสูงขึ้น โดยในวันแรกจะรับประทานครั้งละ 12 เม็ดทุก 12 ชั่วโมง และลดเหลือครั้งละ 5 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ สำหรับผู้ป่วยเด็กจะต้องมีการคำนวณขนาดยาตามน้ำหนักตัว ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามวันและเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ระยะเวลาในการรักษาอยู่ที่ 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย อาการข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตับอักเสบ เป็นต้น