ติดเชื้อโควิดโรงงานฉุดดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ส.ค. ต่ำสุดรอบ 13 เดือน

29 ก.ย. 2564 | 09:17 น.

สศอ.เผยการติดเชื้อโควิดโรงงานฉุดดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคมต่ำสุดรอบ 13 เดือน ชี้ปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตลดลง

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 87.71 หดตัวลดลง 4.15% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นค่าดัชนีต่ำสุดในรอบ 13 เดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 63 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) ของแรงงานในสถานประกอบการ ส่งผลต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมภาพรวม ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตลดลง อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์

อย่างไรก็ตาม MPI 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค. 64) ขยายตัว 7.13% จากทิศทางของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้รับอานิสงส์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6
สำหรับการส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มของการขยายตัวที่ดี โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 64 ขยายตัว 3.25% มูลค่า 17,100.80 ล้านเหรียญ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) ขยายตัว 19.74% มูลค่า 16,436.60 ล้านเหรียญ โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ในส่วนการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 23.82% ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ รวมถึงการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวสูงถึง 66.28% ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตที่ส่งผลบวกขยายตัวในเดือนสิงหาคม 64 ได้แก่
ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 12.45%  ตามการเติบโตของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของโลกอย่างต่อเนื่อง ผลจากการใช้ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เป็นส่วนหนึ่งของสินค้าสมัยใหม่ตั้งแต่เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์เสียงภาพและอุปกรณ์สื่อสาร เซ็นเซอร์ต่างๆ

ทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สศอ.
ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 12.06% จากยางแท่งและยางแผ่น เป็นหลัก จากความต้องการในตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 หลายประเทศเริ่มคลี่คลายโดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากประเทศจีนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยางรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น
เหล็ก และเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 11.89% จากเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กรูปพรรณรีดร้อน เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และเหล็กแผ่นรีดร้อน เป็นหลัก จากผลของฐานต่ำหลังสิ้นสุดมาตรการล็อกดาวน์ในปีก่อนที่ความต้องการใช้ยังมีอย่างจำกัด แต่ใน ปีนี้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมปลายน้ำโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 6.06% จาก Polyethylene resin, Polypropyleneresin, Ethylene และ Propylene เป็นหลัก จากความต้องการสินค้าที่สูงขึ้นในปีนี้ รวมถึงการเร่งผลิตเต็มที่หลังขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตบางราย  ตั้งแต่เดือนมกราคม 64 ที่ผ่านมา
น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 47.07% จากน้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์และกากน้ำตาล เป็นหลัก ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงปิดหีบแล้ว แต่ผู้ผลิตมีการละลายน้ำตาลดิบเป็นน้ำตาลทรายอย่างต่อเนื่อง