สำรวจศักยภาพจีนในการตอบกลับพันธมิตร AUKUS และข้อคิดสำหรับประเทศไทย

29 ก.ย. 2564 | 04:37 น.

สำรวจศักยภาพจีนในการตอบกลับพันธมิตร AUKUS และข้อคิดสำหรับประเทศไทย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,718 หน้า 5 วันที่ 30 กันยายน - 2 ตุลาคม 2564

หลังจากที่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และ ออสเตรเลีย ประกาศความร่วมมือทางด้านความ มั่นคงไตรภาคี AUKUS (Australia-United Kingdom-United States) เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2021

 

นอกจากสายตาทุกคู่จะจับจ้องไปที่ฝรั่งเศส ซึ่งออกตัวแรง ประกาศว่า การสร้างพันธมิตรครั้งนี้คือ การแทงข้างหลังความเชื่อใจและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง 3 ประเทศกับฝรั่งเศส ซึ่งไม่ใช่ในมิติที่ออสเตรเลียยกเลิกการซื้อเรือดำนํ้าพลังงานดีเซล จากฝรั่งเศส หากแต่ปัญหาสำคัญคือ เพราะเหตุใด การสร้างพันธมิตรนึ้จึงไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้ากับพันธมิตรอย่างฝรั่งเศส ที่มีความร่วมมือทางความมั่นคงกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

 

อย่างไรก็ตาม รอยร้าวดังกล่าว ได้เริ่มมีกระบวนการประสานรอยร้าวอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็นแล้วในขณะนี้ ระหว่างผู้นำของสหรัฐ และ ฝรั่งเศส ดังนั้นประเด็นต่อไปที่จะต้องถูกนำมาพิจารณามากยิ่งขึ้นคือ แล้วจีนล่ะ ซึ่งไม่ได้มีการกล่าวถึงเลยในวันเปิดตัวพันธมิตร AUKUS แต่ทั่วทั้งโลกทราบดีว่า นี่คือการสร้างพันธมิตรขึ้นมาเพื่อปิดล้อมจีนอย่างแน่นอน

 

หนึ่งในประเด็นที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในการเจรจาของ AUKUS คือ การสร้าง Joint Strike Fighter Program ซึ่งรวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ออสเตรเลีย กลายเป็นประเทศที่ 7 ในโลกที่จะมีเทคโนโลยีเรือดำนํ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็นของตนเอง (ต่อจาก สหรัฐ สหราชอาณาจักร รัสเซีย ฝรั่งเศส จีน และอินเดีย)

 

โดยสหรัฐจะถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำนํ้าชั้น Virginia Class ให้กับออสเตรเลีย พร้อมเป็นผู้ผลิตแหล่งพลังงานของธาตุยูเรเนียมเสริมสมรรถนะสูง (Highly Enriched Uranium: HEU) ให้กับ เพื่อใช้งานร่วมกับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ PWR3 (Pressurized Water Reactors) ที่ออกแบบโดยสหรัฐ และผลิตโดย Rolls-Royce ในสหราชอาณาจักร

 

เรือดำนํ้าพลังงานนิวเคลียร์ Virginir Class ถือเป็น Fast Attack Submarines ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย และพึ่งเริ่มต้นนำมาใช้งานในปี 2004 เพื่อแทนที่ Los Angeles Class Submarines ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1976

 

ปัจจุบัน สหรัฐมีเรือดำนํ้าชั้น Los Angeles ประจำการ 28 ลำ และจะทยอยปลดประจำการ โดยมีชั้น Verginir มาแทนที่แล้ว 19 ลำ และกำลังอยู่ในระหว่างการผลิตอีก 11 ลำ โดยมีแผนจะสร้างทั้งหมด 66 ลำ ในราคาลำ ละ 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.14 แสนล้านบาท) 

 

เทียบศักยภาพของเรือดำนํ้าที่ออสเตรเลียกำลังจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว ทางฝั่งกองทัพเรือจีน ก็มีเรือดำนํ้า Type 093 Shang class เป็นตัวเปรียบเทียบ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า Virginir Class เล็กน้อย ทำให้ใช้ความเร็วได้สูงกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็ติดตั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ได้จำกัดกว่า

 

จีนเริ่มสร้างเรือดำนํ้ารุ่นนี้ในปี 2006 โดยปัจจุบันจีนมีเรือดำนํ้า Shang Class จำนวน 6 ลำ และกำลังต่อเพิ่มอีก 6 ลำ

 

แต่ Type 093 ไม่ใช่เรือดำนํ้าพลังงานนิวเคลียร์ Fast Attack Submarines รุ่นใหม่ล่าสุดของจีน เพราะปัจจุบันจีนกำลังพัฒนา Type 095 Sui Class ขึ้นมาใหม่ และสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยก็คือ เทคโนโลยีเรือดำนํ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่สหรัฐจะถ่ายทอดให้เทคโนโลยีให้กับออสเตรเลีย ไม่ใช่ เทคโนโลยีชั้นสูงที่สุดของเทคโนโลยีเรือดำนํ้า

 

เพราะเรือดำนํ้าที่มีศักยภาพ และสมรรถนะสูงที่สุดของสหรัฐที่มีประจำการคือ เรือดำนํ้าพลังงานนิวเคลียร์ติดตั้งขีปนาวุธนำวิถี (Ballistic Missile Submarines: SSBNs) ซึ่งปัจจุบันสหรัฐมีเรือดำนํ้าประเภทนี้ที่เรียกว่า Ohio class ประจำการอยู่ทั้งสิ้น 18 ลำ

 

และเนื่องจากเรือรุ่นนี้เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 1976 ดังนั้น ในปี 2020 เรือดำนํ้าพลังงานนิวเคลียร์ติดตั้งขีปนาวุธนำวิถีรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Columbia-class จึงกำลังถูกพัฒนาขึ้นมา และเชื่อว่าจะสามารถนำมาประจำการได้ในปี 2031 โดยวางแผนจะมีการผลิต 12 ลำ

 

สำรวจศักยภาพจีนในการตอบกลับพันธมิตร AUKUS และข้อคิดสำหรับประเทศไทย

 

ทางฝั่งจีนเอง เรือดำนํ้าพลังงานนิวเคลียร์ติดตั้งขีปนาวุธนำวิถีของกองทัพเรือจีน ที่ประจำการอยู่ เป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปี 2007 เรียกว่า Type 094 Jin Class ซึ่งปัจจุบันจีนมีประจำการ 6 ลำ และได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นใหม่ในช่วงต้นปี 2020 เช่นกัน เรียกว่า Type 096 Tang Class

 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ในเรื่องเทคโนโลยีเรือดำนํ้าที่ถูกพูดถึงกันมากในความตกลง AUKUS กลายเป็นเรื่องที่อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สุดไปแล้ว เพราะสิ่งที่กำลังจะเกิดการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีให้กับกองทัพของออสเตรเลีย นอกจากจะไม่ใช่เทคโนโลยีขั้นสุดแล้ว ยังเป็นเทคโนโลยีที่ฝั่งจีนเองก็มีและอาจจะมีเหนือกว่าอีกด้วย

 

โดยเฉพาะต้องอย่าลืมว่าคู่ปรับของเรือดำนํ้าคือ ฝูงเครื่องบินรบที่ต้องประกอบกับเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งออสเตรเลีย ไม่มี Aircraft Carrier มาแล้วตั้งแต่ปี 1982 หลังจากการปลดประจำการเรือ HMAS Melbourne ในขณะที่ในปัจจุบัน จีนมีเรือบรรทุกเครื่องบิน ประจำการ 2 ลำนั่นคือ Liaoning (ประจำการ 2012) และ Shandong (ประจำการ 2019) และลำที่ 3 ที่กำลังจะต่อเสร็จในปี 2023

 

ท้ายที่สุด การปิดล้อมจีนทางทะเล ภายใต้ AUKUS จึงอาจจะไม่ใช่จุดชี้เป็นชี้ตาย หากแต่กลายเป็น การปิดล้อมการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีมากกว่า ที่ทั้งออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐ จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือ

 

เพราะอย่าลืมว่า อีกเรื่องที่ถูกพูดถึงน้อยที่สุด แต่อาจจะกลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของ AUKUS คือ การสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีภายใต้โครงการ Joint Capabilities and Interoperability ที่เน้นการสร้างความร่วมมือในการหาข่าว (Intelligence) ด้วยระบบ AI, การพัฒนาระบบ AI และเชื่อมโยงระบบของทั้ง 3 ประเทศ เพื่อรับมือกับการโจมตีไซเบอร์

 

และที่สำคัญที่สุด คือ การมองไปในโลกยุคหลังดิจิตอล ที่ต้องการการการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมร่วมกัน เพราะในขณะนี้จีนคือ Quantum Supremacy/ Quantum Advantage

 

สิ่งที่เราในฐานะประเทศไทยต้องเรียนรู้จากเรื่องนี้ก็คือ การคานอำนาจทางการทหารด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ใช่ปัจจัยตัดสินเพียงปัจจัยเดียวอีกต่อไป

 

หากแต่ในยุคสงคราม Hybrid Warfare ที่ภัยคุกคามทางความมั่นคงมีอยู่ในทุกรูปแบบ (Comprehensive Security) การสร้างความร่วมมือ การถ่ายทอด รับรู้ ปรับใช้ เท่าทัน เทคโนโลยี นวัตกรรม และการวางยุทธศาสตร์ในการถ่วงดุลอำนาจทางการทหารระหว่างประเทศอย่างชาญฉลาด จะกลายเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าการสะสมอาวุธ เพราะไม่ว่าอย่างไร เราก็ไม่มีหน้าตัก เทียบเท่ากับประเทศมหาอำนาจเหล่านี้