อ่าน “อาทิตย์” ทะลุ SCB พลิกฟ้าพาบริษัท x ลุยตลาด

24 ก.ย. 2564 | 03:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฉบับ 3717 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

ต้องบันทึกไว้ในระบบสถาบันการเงินของประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์ (The Siam Commercial Bank Plc: SCB) ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งโดยพระบรมราชานุญาตในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2449 ในชื่อธนาคารสยามกัมจล มีสาขากว่า 1,070 สาขา สินทรัพย์กว่า 3.2 ล้านล้านบาท หนี้สินราว 2.77 ล้านล้านบาท กำไรปีละกว่า 2.75 หมื่นล้านบาท ประกาศปรับโครงสร้างครั้งสำคัญ ฉีกตัวมาทำธุรกิจธนาคารดิจิทัลแบง กิ้ง ดิจิทัล แพล็ตฟอร์ม ชนิดที่เป็นการปฏิวัติวิธีคิดของนายธนาคารกันเลยทีเดียว
 

17.50 น.ของวันที่ 22 กันยายน 2564 “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB  ประกาศโอนกิจการธนาคาร และกิจการในเครือทั้งหมดให้ บริษัท เอสซีบี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) SCBx ซึ่งแปรสภาพมาจาก บริษัท ไทยพาณิชย์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) โดย SCBx จะเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด แล้วถอนหุ้น SCB ออกจากตลาดหลักทรัพย์ และให้ซื้อขายหุ้นบริษัท โฮลดิ้ง  SCBx แทนทั้งหมด ซึ่งจะเสร็จสิ้นในช่วงกลางปี 2565
 

พูดง่ายๆ คือธนาคารไทยพาณิชย์จะลดบทบาทการเป็นเรือธงลงมาเป็นเพียง “กองทัพ” เท่านั้น  แต่ผู้บัญชาการหลักในการทำธุรกิจหลังจากนี้ไปจะเป็น “ยานแม่” หรือกระทรวงใหญ่ที่เป็นโฮลดิ้งคอมปานี บังคับบัญชาการรบทั้งหมด เพื่อหลบเงื่อนไขในเรื่อเงินทุน ความเสียง หลักประกัน การกันสำรอง และความคล่องตัวในเรื่องต้นทุน ความรวดเร็วนการทำงาน ฯลฯ
 

แทบไม่น่าเชื่อตลาดหุ้น ปรับราคาขึ้นรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำธุรกิจแบบหวาดเสียวสุดๆ เปิดตลาดปุ๊บ ราคาหุ้นเช้าวันที่ 23 ก.ย.2564 ไล่ขึ้นจากปิดตลาดเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2564 ที่ราคา 109.50 บาท/หุ้น ขึ้นมาสูงสุด  137 บาท/หุ้น ปิดครึ่งวันที่ระดับ 131 บาท/หุ้น ขึ้นมา 21.50 บาท/หุ้น คิดเป็น 19.63%
 

 

ผมพามาดูวิธีการปฏิวัติการทำธุรกิจของไทยพาณิชย์ ในยุค “อาทิตย์ นันทวิทยา” เป็น  “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงาน วิธีการหารายได้ของนายธนาคารแบบสิ้นเชิง
 

อาทิตย์ เปิดหัวด้วยแนวคิด “ตอนนี้ก็ถึงเวลาสำคัญที่สุดของคำถามแห่งอนาคตว่า ในช่วง 3 ปีจากนี้ไป SCB จะแปลงสภาพตัวเองอย่างไรจึงจะสามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นและผู้บริโภค สามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้ SCB จึงต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป หากแต่ต้องใช้ความเข้มแข็งทางการเงินของธุรกิจธนาคารปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ เร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินประเภทอื่นที่ตลาดต้องการ  สร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี รวมถึงบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี ขนาดใหญ่ให้ทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก เข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อที่จะอยู่รอดปลอดภัยในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้”  
 

คณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวานนี้ 22 ก.ย 2564 มีมติเห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 15 พ.ย.2564 เพื่อพิจารณาอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงินไทยพาณิชย์ และแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้น โดยธนาคารจะจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัด คือ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX เพื่อประกอบธุรกิจเป็นบริษัทลงทุน หรือ โฮลดิ้งคอมเพนี และจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แทนที่หุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ที่ซื้อขายอยู่ในปัจจุบัน
 


 

หลังจากนั้นธนาคารจะดำเนินการโอนหุ้นซึ่งธนาคารถือในบริษัทย่อย ให้แก่ SCBX หรือ บริษัทย่อยของ SCBX และธนาคารจะโอนธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ให้แก่บริษัทย่อยที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ของ SCBX โดย SCBX จะถือหุ้นในบริษัทย่อยดังกล่าวเกือบทั้งสิ้น เพื่อมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน
 

กลยุทธ์เสริมความแข็งแกร่งธุรกิจธนาคารควบคู่ไปกับการสร้างธุรกิจใหม่สำหรับอนาคตนั้น ในส่วนของธนาคารจะมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการปรับลดกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้มากที่สุดในทุกช่องทาง ธนาคารจะเน้นความสำคัญกับการสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าเป็นที่ตั้ง 
 

ไทยพาณิชย์จะไม่เท่ากับธนาคารในความหมายเดิมอีก แต่จะแปลงสภาพกลายเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน ที่มีธุรกิจธนาคารที่แข็งแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และจะขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคล ที่มีการเติบโตสูงที่ธนาคารไม่สามารถตอบสนองได้ โดยแต่ละธุรกิจธนาคารจะร่วมมือกับพันธมิตรระดับประเทศ และระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง ที่จะเริ่มเปิดตัวในเร็วๆ นี้  
 


 

แนวทางจะออกมาแบบนี้ 1.เมื่อคณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์มีมติเห็นชอบแล้ว จะให้เสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น 15 พ.ย.2564 เพื่อพิจารณาอนุมัติแผนปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงินไทยพาณิชย์ และแผนปรับโครงสร้างการถือหุ้น ในการจะจัดตั้ง บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)  หรือ SCBX เพื่อเป็นบริษัทลงทุน หรือ โฮลดิ้งคอมเพนี
 

2. SCBX จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของธนาคารไทยพาณิชย์จากผู้ถือหุ้นของธนาคาร โดยการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อแลกกับหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของธนาคาร ในอัตรา 1 หุ้นสามัญของธนาคาร = 1 หุ้นสามัญของ SCBX  และ 1 หุ้นบุริมสิทธิของธนาคาร = 1 หุ้นสามัญของ SCBX
 

3. SCBX จะยกเลิกคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ หากจำนวนหุ้นที่มีผู้แสดงเจตนาขายมีน้อยกว่า 90% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของธนาคาร หลังการทำคำเสนซื้อหลักทรัพย์เสร็จสิ้น SCBX จะนำหุ้นสามัญของ SCBX เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทนที่ธนาคาร  
 

การปรับโครงสร้างธุรกิจในครั้งนี้ “อาทิตย์” ตั้งเป้าว่า ภายในปี 2568 ฐานลูกค้าจะเพิ่มเป็น 200 ล้านคน จากปัจจุบัน 16 ล้านคน และ ดันกำไรเพิ่มขึ้น 1.5 -2 เท่า ขณะที่มาร์เก็ตแคปจะแตะ 1 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันแค่ 3.5-3.8 แสนล้านบาท พร้อมกับผลักดันให้บริษัทย่อยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯใน 3-5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 15-16 บริษัท 
“SCBX” เข้าถือหุ้นในบริษัทไหนบ้างนอกเหนือจาก ธนาคารไทยพาณิชย์
Card X ที่จะมีการโอนธุรกิจบัตรเครดิตออกจาก SCB เพื่อทำธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เน้นการทำกำไรให้คล่องตัวมากขึ้น
Alpha X ซึ่งได้ร่วมมือกับ Millennium Group มาทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อ สำหรับรถหรู


มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์ โรลส์-รอยซ์, แอสตัน มาร์ติน, มาเซราติ, เปอโยต์ เรือยอชท์ อะซิมุท อย่างเป็นทางการ เป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ บีเอ็มดับเบิลยู, มินิ, ฮอนด้า, มอเตอร์ไซค์ บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด และ ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ในปี 2563 ขายรถได้ 10,078 คัน ลดลง 13.5% เมื่อเทียบกับปี 2562 รายได้รวม 2.3 หมื่นล้านบาท 
Auto X ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ลีซซิ่ง สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ เน้นไปที่กลุ่มรากหญ้า 
SCB Tech X และ Data X ร่วมมือกับ บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก : ทำธุรกิจเทคโนโลยี
AISCB ร่วมมือกับ AIS  ราว 600 ล้านบาท ในการให้บริการสินเชื่อดิจิทัล
Robinhood ทำธุรกิจส่งอาหาร มียอดลุกค้าราว 2-3 ล้านคน
CPG-SCB VC Fund ร่วมมือกับ เครือ CP จัดตั้งกองทุน Venture Capital ราว 800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลงทุนในธุรกิจ Fin tech เช่น บล็อกเชนและ Decentralized Finance (DeFi) หรือระบบการเงินรูปแบบใหม่
SCB Securities จะทำธุรกิจให้บริการปรึกษาด้านการลงทุนหลักทรัพย์ บริการสินทรัพย์ดิจิทัล
Token X บริษัทให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal)
SCB Abacus บริษัทที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีขั้นสูง (AI) มาวิเคราะห์ข้อมูลพัฒนาธุรกิจรวมถึงสินเชื่อดิจิทัล
MONIX จะเน้นกลุ่มสตาร์ทอัพสายฟินเทค
 


คุณอาทิตย์บอกกับผมว่า “ในระยะ 3-5 ปี กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีจะเติบโตและสร้างกำไรประมาณ 1 ใน 3 ของ SCBX ในอนาคตและคาดว่า ROE จะเพิ่มเป็น 15-20%
 

สำหรับการดำเนินงานนั้น โครงสร้างใหม่ SCB จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเรียกว่า cashcow ธุรกิจที่ทำรายได้ ประกอบด้วยธนาคาร ดิจิทัลแบงกิ้ง ประกันภัย ซึ่งทำงานในระบบนิเวสน์ของระบบธนาคารแบบเดิมเน้นการทำกำไร ดูแลความเสี่ยง การกันสำรอง และทำกำไรให้ได้ปีละ 2.7-3.2 หมื่นล้านบาท
 

ส่วนที่สองเป็นกลุ่มธุรกิจ growth เน้นธุรกิจใหม่ที่เติบโต ได้แก่ แพล็ตฟอร์มทางการเงิน Tech Company ธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งจะมีเติบโตตามขนาดของผู้ใช้บริหารและมูลค่าตลาดเป็นด้านหลัก ซึ่งไม่ต้องวิตกกังวลกับกฎ กติกา และการดูแลความเสี่ยง ต้นทุนทางการเงินเช่นในอดีต โดยมี SCBX ในฐานะเรือธงของกลุ่มจะมุ่งเน้นเติบโตโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบการบริหารความเสี่ยงของธนาคาร ไม่ต้องกังวลต่อผลกระทบต่อฐานะของธนาคาร ผู้ฝากเงิน และธุรกิจธนาคารไม่สะดุด”
 

ภูมิทัศน์ทางการเงินของ SCBx จะแปรเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง คนในระบบธนาคารยังทำธุรกิจแบบเดิมแข่งกับตลาดที่เข้มข้นขึ้น แต่สมรภูมิของด้านดิจิทัล แพลทฟอร์มจะเป็นยุทธจักรที่รบกันดุเดือดทุกรูปแบบ เพื่อขยายอาณาจักรออกไปที่ SCBx เน้นในอาเซียน เวียดนาม อินโดนีเซีย 
 

ขณะที่การบริหารที่ต่อไปนี้ แต่ละบริษัทจะมีคณะกรรมการของตัวเอง ดูแลตัวเอง บริหารจัดการเพื่อประสิทธิภาพเพื่อทำรายได้และผลตอบแทนออกมาด้วยตัวเอง แต่จะมียานแม่คือ SCBx คอยควบคุมในเรื่องเงินทุน ผลตอบแทนที่เกิดขึ้น
 

อาทิตย์....คิดไกล แบบพลิกฟ้า พลิกระบบธนาคาร เพราะเขาเห็นว่า The Winner Take All ใครยึดหัวหาดก่อนคนนั้น คือ เจ้าตลาดและเป็นผู้ชนะในเกมทุกอย่าง ยากที่ใครจะเข้ามาแย่งเค้กในระยะยาว ตอนนี้เขากำลังออกแรงเดินไปให้ถึงที่หมายที่จะนำพาบริษัทในเครือตระกูล “X” ที่จะเพิ่มเติมจากที่มี 15-16 บริษัท ออกไปในทุกหัวระแหงของตลาด
 

คอยดูไม่เกินเดือนหน้า SCBx จะมี VC ใหม่ที่ใหญ่บะเริมเทิ่มเกิดขึ้น ให้ตื่นตาตื่นใจกันอีกระลอ
 

หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,717 วันที่ 26 - 29 กันยายน พ.ศ. 2564