อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปิดตลาด “อ่อนค่า”ที่ระดับ 33.25บาท/ดอลลาร์

23 ก.ย. 2564 | 11:48 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท “อ่อนค่า”ลงในช่วงแรก รับถ้อยแถลงของประธานเฟดที่สะท้อนว่า เฟดอาจเริ่มชะลอวงเงินมาตรการ QE ในเดือนพ.ย. นี้

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 ปีที่ 33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะกลับมาปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 33.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงแรก รับถ้อยแถลงของประธานเฟดที่สะท้อนว่า เฟดอาจเริ่มชะลอวงเงินมาตรการ QE ในเดือนพ.ย. นี้ ขณะที่ dot plot ชุดใหม่ของเฟดบ่งชี้ว่า ดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อาจมีการปรับขึ้นในปีหน้า อย่างไรก็ดีเงินบาทลดช่วงอ่อนค่า และสามารถฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นตามสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ประกอบกับมีสัญญาณซื้อสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน

สำหรับสถานะการลงทุนของต่างชาติในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 3,786.59 ล้านบาท แต่ยังคงขายสุทธิพันธบัตรไทยต่อเนื่องอีก 1,617 ล้านบาท 

 

ส่วนค่าเฉลี่ย Indicative forward points ของธุรกรรมระยะ 3 เดือนจากข้อมูลของธนาคาร 8 แห่งสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ 50-200 ล้านบาทต่อปี รายงานข้อมูล ณ 10.00 น. วันที่ 23 กันยายน 2564 โดยธปท. อยู่ที่ 0.25  สำหรับผู้ส่งออก (ขายเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) และที่ 3.40 สำหรับผู้นำเข้า (ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า)

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า คาดไว้ที่  33.00-33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. เม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิด และรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนส.ค. ของธปท.

 

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตเดือนก.ย. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และ PCE/Core PCE Price Indices เดือนส.ค. จีดีพีไตรมาส 2/64 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามสถานการณ์ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์และข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. ของจีน รวมถึงดัชนี PMI เดือนก.ย. ของจีน ยูโรโซน และสหรัฐฯ