การไหลเลื่อนของสังคม "ย้ายประเทศ" สู่ดินแดนยูโทเปีย ที่ไม่มีจริง

18 ก.ย. 2564 | 03:06 น.

ดร.ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ ([email protected]) อดีตนายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ได้เขียนบทความถึง "การไหลเลื่อนของสังคม สู่การเป็นดินแดนยูโทเปีย" โดยกล่าวถึง กระแสความต้องการ ‘ย้ายประเทศ’ เป็นภาพสะท้อนความรู้สึกของคนรุ่นใหม่

แม้ส่วนหนึ่งอาจไม่ได้ต้องการย้ายไปประเทศอื่นจริงๆ เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ภายใต้สภาวการณ์ที่เสมือนไม่มีทางออก แต่ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าการแสวงหาประเทศอื่น ที่มีระบบนิเวศโดยรวมดีกว่า เช่น คุณภาพชีวิต มาตรฐานการศึกษา หรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เรื่องยาก 

แต่ถ้าต้องการย้ายไปประเทศที่ให้ความสุข มีความเพียบพร้อมของชีวิตอย่างสมบูรณ์ในทุกด้าน การกระจายความเจริญเป็นไปอย่างทั่วถึง และได้ดำรงชีวิตภายใต้วิถีแห่งการเมืองและศีลธรรมที่ดี ดินแดนในอุดมคติดังกล่าว คงมีอยู่แต่ในวรรณกรรมคลาสสิค ‘ยูโทเปีย’ ของ เซอร์โทมัส มอร์ นักมนุษยนิยมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายูโทเปียจะไม่มีอยู่จริง ลีโอ สเตราส์ นักปรัชญาการเมืองชาวเยอรมัน ยังมองว่า ยูโทเปียทำให้เราได้มองเห็นข้อจำกัดของสังคมที่เราอยู่ในปัจจุบัน  

การปกครองสมัยก่อน เน้นความมั่นคงและเสถียรภาพเป็นหลัก สะท้อนได้จากการจัดชั้นภูมิทางสังคมที่มีทั้งระบบวรรณะ ฐานันดร และชนชั้น เป็นมโนทัศน์ที่ชัดเจนและเข้มงวด การเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคมของปัจเจกบุคคลเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะเป็นสถานภาพที่ติดตัวมาแต่กำเนิด หรือทำได้ก็ยาก เพราะเกี่ยวข้องกับประเพณี ความเชื่อที่ถูกปลูกฝังและการสืบทอด 

ในขณะที่การกำหนดเงื่อนไข ‘ระดับชนชั้นในสังคม’ มีเพดานอันมั่นคงและแข็งกระด้าง ‘อำนาจ และการใช้อำนาจ’ ของผู้ปกครอง เพื่อพยายามคงสถานะไว้ กลับมีส่วนช่วยให้ระบบชนชั้นทางสังคมเกิดการขยับตัวไหลเลื่อน ดังที่ มีแชล ฟูโก นักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศส เคยกล่าวไว้ว่า ‘…ไม่มีใครถูกทำให้อยู่ในสถานะรอง หรือถูกกดขี่อย่างถาวร แม้ว่าอำนาจนั้นมีอยู่ มาได้จากทุกหนทุกแห่ง แต่เมื่อที่ใดมีอำนาจกดทับ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้ขัดขืน’

นอกจากยืนหยัดต่อสู้การใช้อำนาจจนได้รับการผ่อนคลายกฏระเบียบ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลและการเกิดขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์ทำให้สังคมสมัยใหม่มีการไหลเลื่อน (Social Fluidity) ไปในทิศทางต่างๆ ง่ายขึ้น เพดานชนชั้นทางสังคมและความเชื่อที่ขัดแย้งกับกฏธรรมชาติถูกท้าทาย หรือรื้อถอน ปัจเจกบุคคลสามารถค้นหาและบรรลุเป้าหมายบางอย่างที่เมื่อก่อนแทบจะเป็นไปไม่ได้ ตัวอย่างเช่น กฏหมายสิทธิมนุษยชนกับความเท่าเทียมทางเพศ นอกจากลดความไม่เสมอภาคทางเพศวิถีแล้ว ยังนำไปสู่แนวคิดใหม่ คือ การยอมรับการเลื่อนไหลทางเพศสภาพ (Gender Fluid) ที่เชื่อว่าหากคนคนหนึ่งใช้ชีวิตโดยปราศจากการกดทับจากอคติ หรือความเชื่อของสังคม ตัวตนด้านเพศสภาพของแต่ละคนควรจะเลื่อนไหลอย่างเสรีหลากหลายได้ตลอดชีวิต ไม่จำกัดว่าตนเองเป็นเพศใด (Non-binary)  

การเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นเรื่องปกติและเป็นธรรมชาติเช่นเดียวกับความชอบในสิ่งอื่นทั่วไปที่เปลี่ยนแปลงไปมาได้ทุกวัน ซึ่งแนวคิดความเป็นพลวัตของอัตลักษณะดังกล่าว กลายเป็นอีกหนึ่งการเคลื่อนไหวที่รณรงค์ไม่ให้ใช้สภาพแวดล้อมทางสังคม สถาบัน ภาษา วัฒนธรรม และความเชื่อ มากำหนดบทบาทตามเพศกำเนิดของปัจเจกบุคคลอีกต่อไป 

นโยบายสาธารณะก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สังคมไหลเลื่อนออกจากสถานะเดิม เช่น การจัดระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและเปิดกว้าง นำไปสู่การขยับสถานะทางสังคมของบุคคลที่เข้าสู่สถาบันการศึกษาจากที่เคยจำกัดอยู่เฉพาะบางกลุ่ม บางชนชั้น หรือ การปรับเปลี่ยนการพัฒนาประเทศตามแนวคิด ‘Better for the few’ หรือ ‘เศรษฐศาสตร์แบบไหลริน’ ซึ่งอนุมานว่าการกระจายรายได้ขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการไหลรินของผลประโยชน์ตามระดับชั้นจากนายทุนใหญ่ ไปสู่นายทุนย่อย และสู่คนยากจน จากเมืองสู่ชนบท  สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือความเหลื่อมล้ำระหว่างเศรษฐกิจส่วนบนและส่วนล่าง รายได้เฉลี่ยของชนชั้นกลางไม่ขยับ และส่วนล่างกลับลดลงไปยิ่งกว่าเดิม จนเกิดภาวะ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’  

การปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าวไปสู่การพัฒนาที่ไหลเลื่อนออกไปทุกทิศทางตามแนวคิด  ‘Good for all’  คือการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถพัฒนาเศรษฐกิจ ระบบสาธารณูปโภค ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานได้ด้วยตนเองอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตัวอย่างแนวทางในการเข้าถึงทุนและเกลี่ยผลประโยชน์ที่เป็นผลผลิตจากทุนอย่างยุติธรรมบนกฏเกณฑ์ที่ไม่ใช่จากบนลงล่าง ถูกกล่าวถึงในนโยบายใหม่ของประธานาธิบดีจีน สี จิ้น ผิง ที่เน้นย้ำถึงการสนับสนุน ‘ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity)’ ภายใต้แนวคิด ‘Good for all’ เพื่อจัดการกับช่องว่างความร่ำรวยขนาดใหญ่ในประเทศ เศรษฐกิจยุคใหม่ของจีนจะมุ่งเน้นประโยชน์ส่วนรวมที่ความมั่งคั่งจะต้องเลื่อนไหลกระจายไปให้กับประชาชนทุกคน คู่ขนานกับการกำกับดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับ Soft Tech โดยเฉพาะธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เคยผูกขาดและสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่

การเลื่อนไหลของสังคมอาจช่วยสร้างดินแดนที่น่าอยู่ และมีบริบทเข้าใกล้ความเป็น ‘ยูโทเปีย’ มากขึ้น แต่ถ้าผู้ปกครองไม่เข้าใจข้อจำกัดของสังคมปัจจุบัน และประเมินผลกระทบของพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงต่ำเกินไป ยังคงใช้อำนาจและกฏระเบียบควบคุมชีวิตผู้คนเพื่อรักษาสถานะชนชั้นในสังคมอย่างเบ็ดเสร็จและปราศจากซึ่งการต่อต้านและขัดขืน กำหนดพลวัตของสังคมให้เคลื่อนไปในทิศทางเดียวจากบนลงล่าง ในที่สุดแล้วก็อาจจะนำสังคมไปในทิศทางตรงกันข้าม กลายเป็นดินแดน ‘ดิสโทเปีย’ ที่แม้จะมียังมีเสถียรภาพ แต่ภายในก็เปราะบางและถดถอยลงทุกวัน เป็นสังคมในแบบที่นักหนังสือพิมพ์และศิลปินแห่งชาติ ทวีป วรดิลก เคยกล่าวไว้ว่า  ‘…มองไปข้างหน้าก็ไม่มีความหวัง  มองย้อนไปข้างหลังก็ไม่มีความภูมิใจ’