ผวา! เคลมประกันภัยโควิด เฉียด 2 หมื่นล้าน

17 ก.ย. 2564 | 04:29 น.

TIPH แจงในภาวะสงครามเคลมประกันโควิด ต้องปรับวิธีรับเรื่อง พร้อมปรับวิธีคำนวณค่าเบี้ยใหม่สอดคล้องความเสี่ยงแท้จริง ค่ายอลิอันซ์อยุธยา เผยเคลมแล้ว 430 ล้าน “พิเชฐ" นักคณิตศาสตร์ ชี้เคสต่างประเทศ ไม่รับประกันภัยคนเคยติดเชื้อโควิดลงปอด

ความเดือดร้อนของผู้ประกันภัยโควิด-19 จากความล่าช้าในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)ต้องตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนขึ้น ปรากฏว่า 4 วันทำการ สามารถผลักดันบริษัทจ่ายเคลมแล้ว 200 รายจากผู้ร้อง 350 รายคาดว่าในวันที่ 14 กันยายนนี้จะสามารถเคลมได้อีก 206 ราย

 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2563-15 สิงหาคม 2564 บริษัทประกันภัยจ่ายเคลมสินไหมแล้ว 9,428.6 ล้านบาท จากเบี้ยรับรวม 12,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีส่วนที่ล่าช้า 30% หรือราว 3,000 ล้านบาท เบื้องต้นยอดเคลมน่าจะอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท โดยไม่รวมเคลมใหม่ที่จะเกิดตามมาจากกรมธรรม์ที่ยังไม่ครบสัญญา ซึ่งตลาดคาดว่า หากรวมกันแล้วทั้งระบบ น่าจะมียอดจ่ายเคลมประกันโควิด-19 เฉียด 2 หมื่นล้านบาท

 

ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮล ดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (TIPH)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้้ยังมียอดเคลมประกันโควิดที่ล่าช้าในระบบประกันภัยอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเกิดจากบริษัทรับเรื่องมาแล้วทำไม่ทัน หรือลูกค้าผู้เอาประกันภัยติดโควิด-19 แล้ว แต่อยู่ระหว่างรักษาพยาบาล

ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮล ดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

สำหรับเคลมล่าช้านั้น มาจากปริมาณเคลมมากว่าช่วงปกติหลายสิบเท่า หากบริษัทไม่จัดระบบที่ดีจะกระจุกตัวและทำงานไม่ทัน เพราะเวลานี้เป็นภาวะสงครามเคลม จึงต้องปรับกระบวนพิจารณาสินไหมให้ทันปริมาณเคลมจำนวนมาก เห็นได้จาก TIPH มีเคลมเพิ่มจากเดิมเกือบ 100 เท่า ปริมาณเป็น 4-5 หมื่นเคลมจากเมื่อก่อนมีเพียงหลัก 100 เคลม

ปัจจุบัน TIPH ปรับวิธีการเปิดเคลมทันที ระดมทีมงานหน่วยอื่นมาช่วย พร้อมแยกเป็น 3 ทีมทำงานคือ  ทีมเคลมเสียชีวิต  ทีมเคลมค่ารักษาพยาบาล  ทีมเคลมค่าชดเชยหรือเคลมอื่นๆ  จากเดิมจะมีวิธีการทำงานแบบมีเจ้าหน้าที่ 1 คนรับเรื่อง พิจารณาเอกสาร  ติดตามเอกสาร   พิจารณาเงื่อนไขความคุ้มครอง และอนุมัติจ่ายเคลม   

 

ทั้งนี้ วิธีทำงานใหม่จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจความครบถ้วนของเอกสารแต่ละประเภทเคลมแล้วแจ้งลูกค้าให้เบาใจ  ส่วนเรื่องที่มีประเด็นจะส่งผู้เชี่ยวชาญดูซึ่งทำงานได้ไว แต่ก็ยังมีร้องเรียนทั้งเรื่องชดเชยและ Home Isolation ซึ่งในวิกฤตคนได้รับความเดือดร้อนเขาจะไม่เข้าใจ ซึ่งเป็นหน้าที่บริษัทประกันภัยทำความเข้าใจกับลูกค้า

การประกันสุขภาพ

สำหรับการจ่ายเคลมของ TIPH 2 ปีรวมกันไปแล้ว 1,350 ล้านบาท (ณ 13 ก.ย.64) จากเบี้ยประกันภัยรับรวม 2,500 ล้านบาท ช่วงที่เหลือเชื่อว่า โควิดยังคงอยู่ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องอยู่กับโควิด ฉะนั้นกรมธรรม์ที่ยังไม่สิ้นสุดความคุ้มครอง มีโอกาสจะเรียกร้องค่าสินไหม ประกอบกับช่วงเวลานี้นักวิชาการด้านการแพทย์ไม่น้อยออกมาเตือน อาจจะมี wave5 หากเกิดขึ้นจริงก็จะต้องสู้กันอีกรอบว่า ค่าสินไหมจะมากขนาดไหน

 

 “ในส่วนของประกันภัยโควิด บริษัทประกันภัยต้องปรับตัว เปลี่ยน แปลง เพื่อกลับมาตั้งรับกันใหม่ เพราะการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยโควิดที่ใช้กันอยู่เป็นการคำนวณบนพื้นฐานของอัตราการติดเชื้อและอัตราเสียชีวิตตามสถิติในรอบที่ี 1 และ 2 ซึ่งตอนนี้ผิดกันมาก ดังนั้น จะต้องคำนวณจากความเสี่ยงที่แท้จริง เพื่อออกแบบกรมธรรม์ใหม่และค่าเบี้ยใหม่ให้เหมาะสม”ดร.สมพรกล่าว

ส่วนประกันภัยประเภทอื่นๆ ได้รับผลกระทบทางอ้อม จากการระบาดของโควิด ทำให้รายได้ประชากร  รายได้องค์กร หรืออุตสาหกรรมลดน้อยลง  ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งชะลอการซื้อประกันภัย ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้อัตราเบี้ยประกันหดตัว  ดังนั้น บริษัทประกันภัยจะต้องปรับตัวเพื่อจะรักษาเบี้ยประกันภัยในแต่ละกลุ่ม  เห็นได้จากประกันภัยรถยนต์ที่อัตราการขายรถลดลง เจ้าของรถเปลี่ยนซื้อประกันภัยประเภท 1 เป็นประเภท 3 มากขึ้น  ซึ่งเบี้ยประกันภัยรถยนต์น้อยลงตั้งแต่ปีก่อนและอาจจะน้อยลงจากเดิม

 

ขณะที่ประกันภัยท่องเที่ยวเดินทางแทบเป็นศูนย์  ประกันภัยทางทะเล ยังเติบโตบางกลุ่มธุรกิจแต่ภาพรวมหดตัว,ประกันภัยก่อสร้างไม่ว่าภาครัฐและเอกชน  การลงทุนขนาดใหญ่หายไปจำนวนมากเบี้ยก็หดตัว,ประกันภัยอัคคีภัยชะลอตามธุรกรรม

 

ขณะเดียวกัน  บริษัทประกันภัยจะต้องปรับตัวเพื่อจะรักษาเบี้ยประกันภัยในแต่ละกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของโควิด โดยมีมีเพียงประกันสุขภาพที่ยังเติบโต  ซึ่งโควิดเป็นส่วนหนึ่งของประกันสุขภาพ  แม้ยังกังวลแต่สถานการณ์โควิดทำให้ประชาชนมีความตระหนักถึงความมั่นคงในสุขภาพมากขึ้น

 

นางสาวพัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบริหารงานลูกค้า บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิตจำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อธุรกิจประกันในช่วง 3 เดือนที่เหลือคือ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ที่จะยังส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งไม่เพียงธุรกิจประกัน แต่กระทบต่อทุกธุรกิจ เห็นจากการขอเลื่อนจ่ายเบี้ยประกันตามสิทธิ 90 วัน เพิ่มขึ้น

นางสาวพัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบริหารงานลูกค้า บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิตจำกัด (มหาชน)

โดยเฉพาะในส่วนของกรมธรรม์สุขภาพ เพิ่มขึ้นประมาณ 20% แต่บริษัทได้แนะนำลูกค้าให้เปลี่ยนระยะเวลาการชำระเงินจากรายปี เป็นรายไตรมาสแทน แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย เพื่อให้ลูกค้ายังคงได้รับความคุ้มครองสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

 

 อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทไม่มีกรมธรรม์โควิด-19 เฉพาะ แต่กรมธรรม์ของบริษัทครอบคลุมการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 อยู่แล้ว จนถึงปัจจุบันได้จ่ายเคลมตามกรมธรรม์จากสถานการณ์โควิดไปแล้วกว่า 7,500 เคส ยอดเคลมกว่า 430 ล้านบาท และยังมีมาตรการเสริมความคุ้มครองโควิด-19 รอบด้านสำหรับลูกค้า ขณะที่เบี้ยประกันภัยรับปีแรก (ANP)ช่วงครึ่งปีแรกเติบโตถึง 5% อยู่ที่ 2,974 ล้านบาท

 

ด้านนายพิเชฐ เจียรมณีทวีสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคชัวเรียล บิสซิเนสโซลูชั่น อดีตนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยกล่าวว่า แนวโน้มอัตราการเคลมแบบประกันอื่นปรับลดลง แต่ประกันสุขภาพรายกลุ่มหรือคลัสเตอร์ยังเพิ่มขึ้น ส่วนประกันภัยโควิด แนวโน้มอัตราเคลมยังเพิ่มประมาณ 5-10% เพราะไม่แสดงอาการ โดยเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว จะมีความระมัดระวังน้อยลง

นายพิเชษฐ เจียรมณีทวีสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคชัวเรียล บิสซิเนสโซลูชั่น

นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงของธุรกิจประกันในอนาคต ที่จะเห็นเพิ่มขึ้นคำว่า “บริการ เทเลเมดิซีน(telemedicine) หรือ โทรเวช” เพราะคนนิยมปรึกษาแพทย์ออนไลน์แทนการเดินทางไปโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ส่วนความเสี่ยงโควิด-19 ที่บริษัทประกันภัยจะปรับสัญญาการขายประกันชีวิตตลอดชีพหรือชั่วระยะเวลา ด้วยค่าเบี้ยแพงขึ้นบนการคำนวณที่ครอบคลุมความเสี่ยง เพื่อทำให้การตั้งราคาถูกต้อง แต่ปัจจุบันประกันภัยโควิดเป็นลักษณะรับเงินมาก่อน โดยไม่รู้สถิติ

 

นอกจากนี้กรณีจากต่างประเทศที่บริษัทประกันจะไม่รับประกันสำหรับคนที่เคยติดเชื้อโควิด ที่ทำทุนประกันสูง 1 ล้านดอลลาร์หรือ 30 ล้านบาท ค่าเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านบาท โดยเฉพาะผู้เคยติดเชื้อลงปอด บริษัทประกันอาจจะไม่รับประกัน

 

“เข้าใจว่า เมื่อธุรกิจประกันเริ่มใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 17 หรือ IFRS 17 เรื่องสัญญาประกันภัย ทั้งการรับรู้ การวัดมูลค่า การแสดงรายการและการเปิดเผยข้อมูลสำหรับสัญญาประกันภัย ซึ่งภาพรวมธุรกิจประกัน จะมีการตั้งราคาครอบคลุมความเสี่ยงอนาคตโดยไม่ผิดพลาด” นายพิเชษฐ กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,714 วันที่ 16 - 18 กันยายน พ.ศ. 2564