อาการสังเกตโรคปอดบวมแตกต่างจากไข้หวัดอย่างไร เช็คเลย

14 ก.ย. 2564 | 13:01 น.

เช็คอาการโรคปอดบวม แตกต่างกับไข้หวัดอย่างไร เปิดข้อควรรู้เกี่ยวกับทั้ง 2 โรคพร้อมการรักษาและการป้องกันเบื้องต้น

ในช่วงฤดูฝนของทุกปี หลายพื้นที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนมีโอกาสเจ็บไข้ได้ป่วยในโรคระบบทางเดินหายใจมากขึ้น โดยเฉพาะไข้หวัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดไม่รุนแรง เป็นได้ทุกวัย พบได้บ่อยในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามหากใครที่ป่วย 3 วันแล้วอาการยังไม่ดี แถมยังมีไข้ขึ้น ไอมากขึ้น หายใจหอบ น้ำมูกเปลี่ยนสี ต้องรีบพบแพทย์เพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อนที่สำคัญคือโรคปอดบวม 

 

สำหรับโรคปอดบวมในบ้านเรานั้น ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยว่าจากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคปอดบวมช่วงฤดูฝนปีนี้ พบว่าทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคปอดบวม จำนวน 24,895 ราย เสียชีวิต 22 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ

 

เรียกได้ว่าเป็นโรคที่ละเลยไม่ได้ หากมีอาการเบื้องต้นบ่งชี้ออกมา ต้องรีบรักษาหรือพบแพทย์โดยด่วน  อย่างไรก็ตามวันนี้ทาง"ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมข้อมูลจากกรมควบคุมโรคเกี่ยวกับอาการของโรคปอดบวม และ ไข้หวัด ว่ามีความเหมือน ความแตกต่างกันอย่างไร และต้องรักษา หรือป้องกันตัวเองอย่างไรบ้าง 
 

ข้อควรรู้เกี่ยวกับไข้หวัด

  • ไข้หวัด เป็นโรคติดต่อที่ไม่อันตราย 

อาการของไข้หวัด

  • ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ต่ำๆ ไอ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย 

การรักษาไข้หวัด

  • อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเองหลังจากป่วยแล้วประมาณวันที่ 3 โดยไข้จะลดลง มักหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ อาจไอต่อไปได้อีก 1-2 สัปดาห์  

อาการต้องสังเกต

  • ในกรณีที่อาการป่วยของไข้หวัดยังไม่ดีขึ้นและมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้คือมีไข้สูง ไอมาก หายใจหอบเร็ว น้ำมูกเปลี่ยนสีจากสีเหลืองอ่อนๆ เป็นสีเขียว ขอให้สงสัยว่าอาจมีโรคแทรกซ้อนที่ปอดที่สำคัญและเป็นอันตรายถึงชีวิตคือโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ (Pneumonia) ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือสถานบริการธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านโดยเร็ว เพื่อรับการรักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที 

ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคปอดบวม

  • สาเหตุของโรคปอดบวมมาจากเชื้อหลายชนิด ทั้งไวรัส แบคทีเรีย
  • เกิดจากการสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าปอด
  • แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดเป็นโรคแทรกซ้อนหลังจากป่วยเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่หรือเป็นโรคอื่นมาก่อน

 

การติดต่อของโรคปอดบวม

  • โรคปอดบวมติดต่อกันจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
  • เชื้อจะแพร่กระจายมาจากน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วยโดยตรง หรือติดมากับสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย

 

การรักษาของโรคปอดบวม

  • นอนพักผ่อนให้มาก 
  • หยุดทำงานหนัก 
  • งดการใช้ของร่วมกับคนอื่น 

 

กรณีมีไข้

  • ใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดาเช็ดตัว 
  • กินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้
  • ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดามากๆ เพื่อช่วยในการขับเสมหะได้ดีขึ้น 


การป้องกันเบื้องต้นไข้หวัด-โรคปอดอักเสบ 

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะเพิ่มการกินผักและผลไม้ให้มากขึ้น เพราะในผักและผลไม้จะมีวิตามินซี ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคได้  
  • หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่แออัด 
  • ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย 
  • ล้างมือบ่อยๆ 
  • สวมใส่เสื้อผ้ารักษาความอบอุ่นให้ร่างกายเสมอ 
  • สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อออกจากบ้าน