ค้าน โครงการเพิ่มน้ำต้นทุน เขื่อนภูมิพล ทำ สูญป่า 3 พันไร่

14 ก.ย. 2564 | 08:34 น.

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร พร้อมองค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ เปิดหน้าชน คัดค้านโครงการ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำ มูลค่า 7 หมื่นล้าน หวั่นทำลายพื้นที่ป่านับ 3 พันไร่

14 ก.ย.2564 - มูลนิธิ สืบ นาคะเถียร เผยว่า สืบเนื่องจากกระแสข่าว การเร่งรัดผลักดันโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท โดยจะดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำที่มีความยาวกว่า 60 กิโลเมตร และก่อสร้างอ่างเก็บน้ำยวม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบโครงการดังกล่าว ผ่านพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5 แห่ง และพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง สูญเสียพื้นที่ป่าทั้งสิ้น 3,641.77 ไร่  นั้น 

ค้าน โครงการเพิ่มน้ำต้นทุน เขื่อนภูมิพล ทำ สูญป่า 3 พันไร่

ปัจจุบันรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (EIA) ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณา ในวันที่ 15 กันยายน 2564 ที่จะถึงนี้  ทั้งที่รายงานฉบับดังกล่าว ยังมีข้อกังขาถึงกระบวนการจัดทำรายงานฯ ความถูกต้องของข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล ว่าผู้มีส่วนได้-เสียในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงหรือไม่

 

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในนามของตัวแทนเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ 19 องค์กรตามรายชื่อแนบท้าย พร้อมตัวแทนนักศึกษาชมรมอนุรักษ์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ทำการยื่นจดหมายถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ และประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ขอให้ยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกขนาดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และทบทวนนโยบายการจัดการน้ำของทั้งประเทศ เพื่อประเมินความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อน โดยมี นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับมอบเอกสารคัดค้านดังกล่าว

 

โดยเนื้อหาจดหมายคัดค้านได้ระบุถึง เอกสารการประชุมของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 4/2563 เมื่อ 18 ธันวาคม 2563 วาระการประชุมที่ 3.3 เรื่องความก้าวหน้าผลการติดตาม สรุปการติดตามการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ 5 กลุ่ม รวมทั้งสิ้นถึง 77 โครงการด้วยกัน ทั้งนี้ยังไม่รวม 7 โครงการอ่างเก็บน้ำในผืนป่ามรดกโลกดงพญา-เย็นเขาใหญ่ ที่บางโครงการ เช่น อ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ มีความคืบหน้าจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จและเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการไปแล้ว 1 ครั้ง บางโครงการอยู่ในระหว่างการคัดเลือกพื้นที่หัวงาน และยังมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์บางโครงการที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในเอกสารดังกล่าวอีก เช่น อ่างเก็บน้ำคลองตาหลิว อ่างเก็บน้ำคลองตารอง ที่มีแผนจะก่อสร้างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เป็นต้น 

โดยขอแสดงเจตนายืนยันไม่เห็นด้วยที่จะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือโครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทอื่นๆ เช่น อุโมงค์ผันน้ำที่ผ่าใจกลางผืนป่าในพื้นที่อนุรักษ์อีกต่อไป ซึ่งโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-เขื่อนภูมิพล คือ 2 โครงการจาก 77 โครงการ ที่ถูกระบุอยู่ในเอกสารดังกล่าว

 

ดังนั้น องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ ขอแสดงเจตนายืนยันที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด ยกเลิกการเร่งผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแบบเหมารวม และเลือกการจัดการแหล่งน้ำนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นลำดับแรก ส่งเสริมนวัตกรรมการจัดการน้ำแบบไม่ทำลายพื้นที่ป่าเพื่อให้คนและสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ดังกล่าว ประกอบไปด้วย 

  • มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
  • สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย
  • มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย
  • สมาคมอุทยานแห่งชาติ
  • กลุ่มบิ๊กทรี
  • กลุ่มใบไม้
  • กลุ่มรักษ์เขาใหญ่
  • กลุ่มฅนรักษ์สัตว์ป่า
  • กลุ่มเนเจอร์แค้มป์อาสา
  • กลุ่มไม้ขีดไฟ
  • เครือข่ายเขาใหญ่ดีจัง
  • กลุ่มเรารักษ์ป่านครราชสีมา
  • กลุ่มรักษ์กระทิงเขาใหญ่
  • กลุ่มลูกมะปราง
  • กลุ่มปั้นดิน เพื่อเด็กและเยาวชน
  • กลุ่มเยาวชนต้นกล้า จ.นครนายก
  • เครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง
  • มูลนิธิฟรีแลนด์
  • กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
  • มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)