"เฉลิมชัย"แจงยิบฝ่ายค้าน ประมูลยางแสนตันโปร่งใส พร้อมให้ตรวจสอบ

03 ก.ย. 2564 | 07:53 น.

“เฉลิมชัย” โต้อภิปราย ยัน ประมูลสต๊อกยาง ถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ท้าหน่วยงานนอกตรวจสอบ ชี้ถ้าผิดพร้อมฟันทันที ยันไม่ปกป้องคนผิด เผย 6 เดือนแรกโควิดไม่สะเทือน ดันส่งออกสินค้าเกษตรพุ่ง 1.4 แสนล้าน ควงคู่กระทรวงพาณิชย์ ชู "ตลาดนำการผลิต"

 

เฉลิมชัย ศรีอ่อน

 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลว่า เป็นความสวยงามของระบบรัฐสภา โดยเฉพาะอย่าง การทำงานของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ตนได้กำกับดูแล ซึ่งก็เข้าใจเจตนาของท่านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ท่านได้ใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ใส่ร้ายป้ายสี

 

"อยากจะเรียนถึงสมาชิกและท่านประธานรัฐสภา ผมมั่นใจว่าข้อครหาทั้งหมดที่กล่าวหามาทั้งหมดเป็นเท็จ ไม่มีมูลความจริง ได้มีการอภิปรายบิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งในบางเรื่องก็ไม่ได้เข้าใจในเรื่องข้อเท็จจริง บางเรื่องก็ไม่รู้ หรือบางเรื่องอาจจะได้รับข้อมูลที่ผิดพลาด จึงขออธิบายรายละเอียดข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ซึ่งมีเอกสาร หลักฐานครบถ้วน ที่สามารถที่จะตรวจสอบได้"

 

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า "ในฐานะที่ผู้อภิปรายได้กล่าวหาผมที่กำกับดูแล ได้รับทราบข้อเท็จจริง จะได้รับฟังคำชี้แจงของผม ซึ่งผมสามารถตรวจสอบได้ ไม่ได้มโนเอาเอง ซึ่งต่อจากนี้หากผมได้ชี้แจงแล้ว ก็ขอให้พิจารณาตัดสินใจในการลงมติครั้งนี้ด้วยเหตุและผลด้วยข้อเท็จจริง และด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม”

 

สำหรับโครงสร้าง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)  และกระบวนการทั้งหมด จนไปปสู่การประมูลในครั้งที่ 3 มีการเซ็นสัญญาในวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา กยท. มีองค์กรที่เกี่ยวข้อง 1. คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมี รมต.กระทรวงเกษตรฯ เป็นรองประธาน มีผู้แทนส่วนราชการอีก 15 ท่าน  มีผู้แทนเอกชน 5 ท่าน มีคณะทำงานผู้แทนเกษตร และเครือข่ายเกษตร อีก 6 คน มีเลขา สศก. และผู้ว่าการยางฯ รวมทั้งหมด 31 คน ในการประชุมทุกครั้งจะต้องมีองค์ประชุมครบถึงจะดำเนินการได้ ไม่ใช่ท่านนายกฯหรือผม จะดำเนินการอย่างไร แล้วจะสามารถทำให้เป็นมติ ของ กนย.ได้จะต้องเป็นมติที่ประชุม

 

 

ผลการดำเนินงาน 2 โครงการยางพารา

 

 

ในส่วนที่สอง กยท.  เป็นรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 จะมีคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย หรือเรียกง่ายๆว่า บอร์ด กยท. เป็นผู้กำหนดนโยบาย กำกับดูแล และอนุมัติ ในกิจกรรมการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งบอร์ดในชุดนี้ประกอบด้วย ประธาน คณะกรรมการโดยตำแหน่ง 6 คน ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยังมีองค์ประกอบคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 7 คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยางอีก 3 คน ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอีก 2 คน และผู้แทนที่มีความเชี่ยวชาญทางการค้าอีก คน ทั้งหมด 14 คน มติที่ประชุมเป็นเอกฉันท์ สถานะ กยท.เป็นรัฐวิสาหกิจ อยู่ในการกำกับดูของ ก.เกษตรและสหกรณ์

 

“ในวันที่ผมเข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2562  รัฐบาลได้แถลงนโยบายในเรื่องโครงการประกันรายได้เกษตรกร 5 ชนิด ยางพารา หนึ่งในสินค้า 5 ชนิด เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ทำให้ประเทศชาติมีรายได้ที่มั่นคง และผมเชื่อมั่นว่าการที่รัฐบาลประกาศนโยบาย ก็ทำให้เกษตรกรมีความสุขและยิ้มกันทั้งประเทศ เพราะนี่เป็นครั้งเดียวที่มีโอกาสที่จะได้รับการดูแลภาคการเกษตรจากรัฐบาลอย่างจริงจัง ผมถามว่าเคยมีรัฐบาลไหนบ้างที่ทำนโยบายอย่างนี้ให้กับพี่น้องประชาชน และเมื่อประกันรายได้แล้วเราจะไม่ได้ทำอะไรเลย ปล่อยให้ราคายางเป็นไปตามยถากรรม"

แต่ตรงกันข้ามได้พยายามทำทุกวิถีทาง เพราะเกษตรกรไทย คือหัวใจของชาติ ทำจนกระทั่งช่วงเวลาหนึ่ง ราคายางพารามีราคาเกินกว่าราคาประกัน ซึ่งรัฐบาลไม่ต้องเสียเงินภาษีมาชดเชยในส่วนต่าง จนกระทั่งมาประสบกับภาวะวิกฤติโควิด ซึ่งต้องยอมรับภาวะวิกฤตินี้มีผลกระทบไปทั่วโลก ทุกประเทศ และทุกสาขาอาชีพเช่นเดียวกัน ภาคการเกษตร ก็ไม่เว้น แต่ว่าในภาวะวิกฤติเช่นนั้นเราได้มีการบูรณาการในทุกภาคส่วนไม่ใช่เฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพียงอย่างเดียว กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย แม้กระทั่งกระทรวงการต่างประเทศ

 

“วันที่ผมเข้ามากำกับดูแล กยท. ผมมีหน้าที่กำกับและมอบนโยบาย ไม่มีหน้าที่ไปนั่งเซ็นลงนามอะไรทั้งสิ้น ได้ให้นโยบาย กยท.ว่าจะต้องทำงานอย่างสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องไม่ผิดกฎหมาย นี่คือสิ่งที่ผมมอบนโยบาย และยังได้กำชับอีกว่า ถ้าท่านในทำสิ่งที่ถูกต้อง ผมจะปกป้องท่าน แต่ท่านทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องตัวผมเองจะดำเนินการกับท่านโดยเด็ดขาด”

"เฉลิมชัย"แจงยิบฝ่ายค้าน ประมูลยางแสนตันโปร่งใส พร้อมให้ตรวจสอบ

เรื่องของยางพารา 104,000 ตัน มียางพาราอยู่ในสต๊อก 104,000 ตันเศษซึ่งอย่างที่เก็บไว้เสียค่าเช่าโกดังค่าประกันภัยจะได้รับการชดเชยโดยสัญญาทุกปีจะสิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี และเริ่มต้นมิถุนายน การยางแห่งประเทศไทยทำสัญญาเช่าเริ่มตั้งแต่ปี 2555 โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง

 

โดยการซื้อยางเข้าสู่สต๊อก เพื่อให้ยางในตลาดมีปริมาณน้อยลง เพื่อรักษาเสถียรภาพ เพราะขณะนั้นราคายางตกมาก จาก กิโลกรัมละ 180 บาทเหลือ 90 บาท เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 จึงรับซื้อยางเข้ามา ปริมาณทั้งหมด 213,492 ตันในราคาเฉลี่ย 98.96 บาทต่อกิโลกรัม งบประมาณ 22,782 ล้านบาท

 

ต่อมาในปี 2557 มีโครงการมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพาราเพื่อให้ยางในตลาดขณะนั้นมีราคาไม่ต่ำจนเกษตรกรไม่มีจะกิน  ที่ซื้อยางเข้าสต๊อกทั้ง 2 ครั้ง ปี 2555 กับ 2557 เพื่อตัดปริมาณยางในตลาดรักษาสถานภาพราคายางเมื่อมีการนำยางเข้ามาในสต๊อก มีการระบายยางโดยครั้งแรกในปี 2557 มีการลงนามสัญญา 278,000 ตัน เมื่อทำสัญญาแล้วราคายางตกลงอย่างมากบริษัทรับยางเพียง 37,602 ตัน เนื่องจากราคาตกมากจึงไม่ได้รับครบจึงเป็นไปสู่การกำหนด TOR ในการประมูล

 

การประมูลครั้งที่ 2 ประมูลในรอบปี 2559-2560 ซึ่งเป็นการประมูลแบบคละเหมาคุณภาพแยกโกดัง ให้พ่อค้าเข้าไปตรวจสอบคุณภาพหากพอใจโกดังไหนที่ประมูลโกดังนั้น พ่อค้าก็เลือกยางดีดีไปหมด การประมูลครั้งที่ 2 เหลือยางในสต๊อกจนถึงปัจจุบัน 104,000 ตันเศษ   9 ปีเต็ม เป็นยางที่ถูกคัดเลือกของดีไปเรียบร้อยแล้ว ยางในสต๊อกนี้คือฝันร้ายของพี่น้องเกษตรกร ตนมาช่วยคลายล็อกให้พี่น้องเกษตรกรไม่ต้องฝันร้ายต่อไปอีก จะได้ไม่ถูกยางในสต๊อกเป็นข้ออ้างของพ่อค้าบางกลุ่มกดราคา อ้างว่ายางไม่ขาดมีในสต๊อก ทั้งที่ยางในสต๊อกไม่มีสภาพที่พร้อมใช้แล้ว

 

ยางแผ่นดิบปกติเก็บ 6 เดือนสีก็เปลี่ยน ระหว่างปี 2555-2559 ค่าใช้จ่ายในการซื้อยางเข้ามาในสต๊อก ค่าเช่าโกดัง ค่าประกันภัยยางพาราใช้เงินทั้งสิ้น 2,317 ล้านบาท และปี 2559 ถึงปี 2564 ยาง ค่าใช้จ่ายรวมกัน 925 ล้านบาท โดยเป็นเงินงบรายจ่ายการยางแห่งประเทศไทยจากเงินกองทุนพัฒนายางพาราซึ่งใช้ดูแลพี่น้องชาวเกษตรกร จึงเป็นฝันร้ายที่ 2 ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง

 

สภาพยางคงเหลือ

 

"คณะกรรมการการยางธรรมชาติจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ให้ระบายยางในสต๊อกนี้ให้หมดโดยเร็ว และนำเข้า ครม.วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 การระบายต้องดูจังหวะที่เหมาะสมและไม่กระทบกับราคายางในตลาดมากนักเมื่อ ครม.ได้รับทราบ ตนในฐานะกำกับดูแลการยางแห่งประเทศไทย ให้นโยบายการยางแห่งประเทศไทยในการระบายอย่างสต๊อก 1.ให้การยางแห่งประเทศไทยดูช่วงเวลาที่เหมาะสมในการระบายเพื่อไม่ให้กระทบราคายางในตลาด

 

2.พี่น้องเกษตรกรต้องได้รับประโยชน์ 3.ต้องรักษาผลประโยชน์ภาครัฐเพราะเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน 4.ต้องทำโดยสุจริตโปร่งใสตรวจสอบได้ และถูกต้องตามระเบียบ ที่เน้นย้ำที่สุดคือห้ามทุจริตคอรัปชั่นโดยเด็ดขาด ถ้าเขาทำทุจริตผิดกฎหมายผมไม่ละเว้นอยู่แล้วและนอกจากผมไม่ละเว้นแล้วยังมีหน่วยงานมากมายที่รอการตรวจสอบท่านสามารถฟ้องได้เลย เพราะถ้าไม่ถูกต้องผมก็ไม่ชอบ อยู่ประเทศไทยทำร้ายประเทศผมก็ไม่เอา " นายเฉลิมชัย กล่าว

 

ยันเจตนารมย์

 

อย่างไรก็ดีสิ่งที่จะก้าวผ่านไปได้ นายเฉลิมชัย กล่าวว่า วันนี้ ตัวเลข จีดีพีประเทศไทยที่ปรากฏ เป็น "สินค้าเกษตร" พยุง บวกเพิ่ม เกือบทุกตัว ในครึ่งปีแรก "ผักและผลไม้" มีการส่งออก 1.4 แสนล้านบาท เพิ่มมา 41% ขยายตัว ยังไม่รวมสินค้าเกษตรอื่น ๆ ดังนั้น ก็ไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายที่เดียวเราต้องร่วมกันแก้ไข ผมมีความตั้งใจในการที่จะแก้ไขปัญหาที่จะทำงารนแบบบูรณาการ โดย ก.เกษตรฯ  "ตลาดนำ การผลิต" กระทรวงพาณิชย์ “ เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” รวมทั้ง กระทรวงมหาดไทย ก.ต่างประเทศ ร่วมแก้ปัญหา แต่ต้องยอมรับความจริง ว่าภาวะวิกฤติไม่ใช่ประเทศเดียวที่โดนผลกระทบจากโควิด-19 แต่เป็นไปทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน