อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า”ที่ระดับ 32.44 บาท/ดอลลาร์

03 ก.ย. 2564 | 00:41 น.

อัตราแลกเปลี่ยน-อาจผันผวนมากขึ้น ตามเงินดอลลาร์ได้ หากผู้เล่นในตลาดมีการปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ในช่วงก่อนรับรู้ยอด Nonfarm Payrolls

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.44 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.48 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจผันผวนมากขึ้น ตามเงินดอลลาร์ได้ หากผู้เล่นในตลาดมีการปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ในช่วงก่อนรับรู้ยอด Nonfarm Payrolls ขณะเดียวกัน ในฝั่งโฟลว์การลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติก็อาจจะเริ่มลดลง หลังตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นมาใกล้แนวต้านเชิงเทคนิคัล นอกจากนี้ เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจรอจับตาแนวโน้มสถานการณ์การระบาดในประเทศหลังการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ก่อนที่จะตัดสินใจ เพิ่ม หรือ ลด สถานะถือครองสินทรัพย์ไทยต่อไป

 

อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า สถานการณ์การระบาดในไทยยังน่าเป็นห่วง เพราะการตรวจเชิงรุกยังทำได้ไม่ดีพอ จึงเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ๆ หลังการผ่อนคลาย Lockdown ดังนั้น ผู้ประกอบการโดยเฉพาะฝั่งผู้นำเข้า อาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการทยอยปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งถ้าหากผู้ประกอบการมีความไม่มั่นใจต่อแนวโน้มค่าเงิน ก็สามารถใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options ในการเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงค่าเงินได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.35-32.50 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.4 แสนราย ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เช่นเดียวกับ ยอดสั่งซื้อสินค้าของโรงงาน (Factory Order) ในเดือนกรกฎาคม ก็ปรับตัวขึ้นกว่า 0.4% จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตที่ยังคงคึกคักอยู่

 

 

ซึ่งภาพดังกล่าวได้ช่วยหนุนให้ หุ้นในกลุ่ม Cyclical ต่างปรับตัวสูงขึ้น ดันให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น โดย ดัชนี Dowjones ปิดบวก +0.37% เช่นเดียวกับ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น +0.28% ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคฯ ยังคงได้รับอานิสงส์จากบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ทรงตัวใกล้ระดับ 1.30% รวมถึงเทรนด์การกลับมาลงทุนในหุ้นเติบโต (Growth) อย่าง หุ้นเทคฯ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.14%

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นราว +0.11% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มบริษัทพลังงาน Eni +1.3%, Total Energies +1.3% และหุ้นในกลุ่มเทคฯ Infineon Tech. +1.7%, ASML +1.1%

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดต่างรอคอยรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันนี้ เพื่อจับประเมินมุมมองของเฟดต่อการปรับลดคิวอี รวมถึงแนวโน้มการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1.28% ทั้งนี้ หาก ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าคาด อาจหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อย

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังตลาดการเงินยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดก็มีการปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ลงบ้าง ก่อนรับรู้ Nonfarm Payrolls ในวันนี้ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 92.21 จุด และมีโอกาสที่เงินดอลลาร์อาจผันผวนหนักในช่วงก่อนและหลังการรายงาน Nonfarm Payrolls โดย เงินดอลลาร์อาจพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ หากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวแข็งแกร่งมากกว่าที่ผู้เล่นในตลาดคาดหวังไว้

 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานผ่าน ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) โดยตลาดมองว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนสิงหาคมจะเพิ่มขึ้น 7.5 แสนราย ทำให้อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 5.2% ซึ่งหากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องและภาพรวมเศรษฐกิจไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ Delta มากนัก

 

เรามองว่า เฟดอาจส่งสัญญาณการลดคิวอีที่ชัดเจนได้ในการประชุมเดือนกันยายน จากนั้นเฟดอาจประกาศลดคิวอีได้ในการประชุมเดือนพฤศจิกายนและเริ่มลดคิวอีในเดือนธันวาคม อนึ่งปัญหาการระบาดระลอกใหม่ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามว่าจะกดดันเศรษฐกิจอย่างไร