WHO ยันไวรัสโควิดสายพันธุ์ C.1.2 ยังไม่แพร่ระบาด สธ.ย้ำไม่มีการตรวจพบในไทย

31 ส.ค. 2564 | 18:27 น.

องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงวานนี้ (31 ส.ค.) ว่า ไวรัสโควิดสายพันธุ์ C.1.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มีการกลายพันธุ์ในหลายตำแหน่ง และพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้นั้น ยังไม่ได้มีการแพร่ระบาดออกไป และ WHO กำลังจับตาไวรัสดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ด้านสธ.ยัน ยังตรวจไม่พบในไทยเช่นกัน

นางมาร์กาเร็ต แฮร์ริส โฆษกองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า ไวรัสสายพันธุ์ C.1.2 ดูเหมือนยังไม่ได้แพร่กระจายออกไป และ WHO ก็ยังไม่ได้ระบุว่าไวรัสดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ที่น่าวิตก (variant of concern : VOC)

 

อย่างไรก็ดี นายริชาร์ด เลสเซลส์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ ให้ข้อสังเกตว่า เมื่อพิจารณาจากรูปแบบการกลายพันธุ์ ไวรัสสายพันธุ์ C.1.2 อาจมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิต้านทานของร่างกายได้ดีกว่าสายพันธุ์เดลตา ซึ่งในขณะนี้ถือเป็นสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดเร็วที่สุด และสามารถปรับตัวได้ดีที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จัก

 

ทั้งนี้ มีการพบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ C.1.2 เป็นครั้งแรกในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา และมีรายงานว่าขณะนี้ไวรัสดังกล่าวมีการแพร่ระบาดไปยังจังหวัดต่างๆของแอฟริกาใต้ และอีก 7 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ยุโรป เอเชีย และโอเชียเนีย (อ่านเพิ่มเติม: พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ C.1.2 กลายพันธุ์ไวขึ้นเกือบสองเท่า)

 

นพ.เฉวตสรร นามวาท

สำหรับประเทศไทย วันเดียวกัน (31 ส.ค.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมายืนยันว่า ในไทยยังไม่มีการตรวจพบโควิด-19 สายพันธุ์ C.1.2  

 

นอกจากนี้ ยังให้ความเห็นถึงกรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเกี่ยวกับการตรวจพบโควิด-19 สายพันธุ์ C.1.2 ในหลายประเทศโดยเฉพาะในแอฟริกาว่า โดยธรรมชาติของเชื้อไวรัสจะมีการกลายพันธุ์อยู่แล้ว  และทุกประเทศได้เฝ้าระวังเป็นอย่างดี ขอให้มั่นใจระบบเฝ้าระวังที่มีการตรวจพันธุกรรมของสายพันธุ์ไวรัส สัปดาห์ละ 500 ตัวอย่าง เมื่อทราบว่ามีการพบสายพันธุ์ใหม่จากประเทศใด จะตรวจผู้ที่เดินทางจากประเทศดังกล่าว ร่วมกับการสุ่มตรวจทั่วประเทศ

 

“สายพันธุ์ที่พบในไทยส่วนใหญ่เป็นเดลตา 92-93% ในจำนวนตัวอย่างที่สุ่มตรวจ ส่วนสายพันธุ์ C.1.2 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจ ขณะที่ความรุนแรงของสายพันธุ์ดังกล่าว ยังเร็วเกินไปที่จะให้ข้อสังเกตว่ามีการแพร่ระบาดเร็วขึ้นหรือไม่ ความรุนแรงของโรคมากขึ้นหรือไม่ ดื้อต่อการรักษาและดื้อต่อวัคซีนป้องกัน COVID-19 หรือไม่ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการแลกเปลี่ยนข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์และระบบสาธารณสุขของประเทศต่างๆ ทั่วโลก” นพ.เฉวตสรร กล่าว