"กนอ." เผยนิคมอุตสาหกรรมบางปูน้ำลดเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ

30 ส.ค. 2564 | 09:48 น.

กนอ. เผยนิคมอุตสาหกรรมบางปูน้ำลดเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ หลังระดมทีมระบายน้ำลงคลองหลักตลอดทั้งคืน เตรียมเสนอ บอร์ด กนอ. พิจารณาปรับปรุงแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาระยะยาว

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)  เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ว่า  พื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตประกอบการทั่วไปน้ำลดลงจนเกือบแห้ง ยกเว้นในบริเวณซอย  11 ถึง 14 ที่ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ที่ระดับความสูงกว่าหรือไม่เกิน 10 เซนติเมตร ขณะที่ในเขตประกอบการเสรียังคงท่วมสูง รถเล็กไม่สามารถผ่านไปได้ โดยหากฝนไม่ตกเลยในวันนี้ (30 ส.ค.64) น้ำก็จะลดลงจนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ และทำให้การสัญจรไปมาสามารถทำได้ และทางนิคมฯก็ยังคงเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ภาพรวมของนิคมอุตสาหกรรมบางปู ปัจจุบันมีการระบายน้ำอยู่ 2 ทิศทาง คือ บริเวณทิศเหนือจะระบายน้ำลงที่คลองหกส่วน และในทิศตะวันออก ซึ่งเป็นเขตที่ตั้งของเขตประกอบการเสรีจะระบายน้ำลงที่คลองลำสลัด โดยการระบายน้ำของทั้ง 2 คลองนี้จะไหลมารวมกันที่คลองชายทะเล ซึ่งตรงจุดนี้ควบคุมการสูบน้ำโดย กรมชลประทาน ที่สถานีสูบน้ำตำหรุ ซึ่งจากการรายงานช่วงคืนที่ผ่านมาทางนิคมฯ บางปู ได้มีการระดมทีมเพื่อทำการระบายน้ำออกจากพื้นที่นิคมฯ 

สำหรับปัญหาที่พบตอนนี้คือ น้ำที่หลากมาจากถนนพัฒนา 1 เข้าสู่เขตประกอบการเสรีทำให้น้ำลดลงได้ช้า โดยสิ่งที่นิคมฯ ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ การเร่งระบายน้ำออกคลองชายทะเลเพื่อป้องกันน้ำไหลเข้ามาภายในเขตประกอบการการเสรี โดยเบื้องต้นได้รับความช่วยเหลือจาก อบจ.สมุทรปราการ นำรถสูบน้ำแบบทางไกล เข้ามาในพื้นที่แล้วจำนวน 6 เครื่อง

นิคมอุตสาหกรรมบางปูสถานการณ์เกือบเป็นปกติ

และในวันนี้ กรมทรัพยากรน้ำฯ นำเครื่องสูบน้ำมา 3 เครื่อง และหน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะนำมา 2 เครื่อง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถานีตำรวจภูธรบางปู กรมพลาธิการทหารบก และจิตอาสา ก็ได้เข้ามาอำนวยความสะดวกภายในนิคมฯ ขณะเดียวกันก็เตรียมเสนอคณะกรรมการ กนอ. (บอร์ด กนอ.) เพื่อหาพิจารณาปรับปรุงแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาระยะยาว”

สำหรับนิคมฯบางปู มีสถานีสูบป้องกันน้ำท่วมจำนวน 12 สถานี กำลังการสูบรวมประมาณ 73,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง และเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ จำนวน 10 ชุด กำลังการสูบรวมประมาณ 12,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง  รวมความสามารถในการระบายน้ำออกนอกพื้นที่ประมาณ 85,000 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง