อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 32.76 บาท/ดอลลาร์

27 ส.ค. 2564 | 01:21 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนและกลับไปอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะดีขึ้นจริง เหตุการตรวจเชิงรุกยังไม่ครอบคลุม อัตราการตรวจพบเชื้อ ยังสูงกว่า 20% ซึ่งมากกว่าที่ WHO แนะนำไว้ว่าไม่ควรเกิน 5%

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.76 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.74 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจจะรอคอยสัญญาณการปรับลดคิวอีจากถ้อยแถลงของประธานเฟดไปก่อน ทำให้ตลาดค่าเงินมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบหรือ Sideways ทว่า ในระยะสั้น เงินบาทยังคงมีแรงหนุนในฝั่งแข็งค่า จาก ความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์การระบาดในประเทศเริ่มดูทรงตัวและอาจคลี่คลายลงได้ ซึ่งหากสถานการณ์การระบาดดีขึ้นต่อเนื่องและนำไปสู่การทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ได้ อาจหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี เรายังคงกังวลต่อแนวโน้มการระบาดในไทย และมองว่า การตรวจเชิงรุกยังไม่ครอบคลุมพอที่จะสรุปได้ว่าการระบาดนั้นลดลงแล้ว (อัตราการตรวจพบเชื้อ หรือ Positive Rate ยังสูงกว่า 20% ซึ่งมากกว่าที่ WHO แนะนำไว้ว่าไม่ควรเกิน 5%)  จึงมองว่า เงินบาท ยังมีโอกาสผันผวนและกลับไปอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะดีขึ้นจริง รวมถึงแนวโน้มเงินดอลลาร์ที่อาจกลับไปแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากเฟดมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการทยอยลดคิวอีในปีนี้

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.70-32.85 บาท/ดอลลาร์

ผู้เล่นในตลาดโดยรวมอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น เพื่อรอถ้อยแถลงของประธานเฟดในการประชุมวิชาการเฟด Jackson Hole ซึ่งตลาดต่างรอจับตาว่า ประธานเฟดอาจจะมีการส่งสัญญาณหรือรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับลดคิวอีหรือไม่ ทั้งนี้ ในงานประชุมดังกล่าว ได้มีเจ้าหน้าเฟดจำนวน 3 ท่าน (Robert Kaplan, James Bullard และ Esther George) ได้ออกมาสนับสนุนการทยอยลดคิวอีที่เร็วขึ้นในปีนี้

 

ภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้นของผู้เล่นในตลาด ได้สะท้อนผ่านการขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงออกมาบ้าง กดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างย่อตัวลง โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาดในแดนลบ -0.58% ส่วนทางด้านดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด -0.64% ตามการปรับตัวลดลงของหุ้นเทคฯ เนื่องจากตลาดกังวลว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อาจพลิกกลับมาเป็นเทรนด์ขาขึ้นได้ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี อาจกดดันการประเมินมูลค่าของหุ้นเทคฯ และทำให้หุ้นเทคฯ ดูแพงขึ้น

 

ส่วนในฝั่งยุโรป บรรยากาศการลงทุนก็กลับมาอยู่ในโหมดระมัดระวังตัวมากขึ้นเช่นกัน โดยดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลดลง -0.27% กดดันโดยหุ้นเทคฯ อย่าง Adyen -2.1% รวมถึง หุ้นกลุ่มการเงิน Santander -1.4%, Intesa Sanpaolo -1.1%, BNP Paribas -0.9% 

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดต่างรอคอยสัญญาณการปรับมาตรการคิวอีของเฟดในงานประชุมวิชาการ Jackson Hole ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวในกรอบ 1.34%- 1.37% โดยหากในงานประชุมวิชาการ Jackson Hole ประธานเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับการทยอยลดคิวอี ก็อาจกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงได้บ้าง ขณะที่ ถ้อยแถลงที่แสดงถึงความมั่นใจในแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับการทยอยลดคิวอี ก็อาจหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นได้เช่นกัน

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัง หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตางานประชุมวิชาการของเฟด Jackson Hole ส่งผลให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 93.06 จุด กดดันให้ สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.175 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็อ่อนค่าลงมาใกล้ระดับ 110 เยนต่อดอลลาร์

 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด ในงานประชุมวิชาการของเฟดที่ Jackson Hole เพื่อติดตามมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ภายหลังสหรัฐฯ เผชิญการระบาดของ Delta ที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางการปรับลดคิวอีของเฟดได้ โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมีทั้งฝั่งที่มองว่า เฟดอาจจะเริ่มส่งสัญญาณและความชัดเจนต่อการทยอยปรับลดคิวอีมากขึ้น หลังภาพรวมเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่ ผู้เล่นบางส่วนก็มองว่า ปัญหาการระบาดของ Delta อาจกดดันให้เฟดชะลอการส่งสัญญาณการปรับลดคิวอี เนื่องจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น

 

นอกจากนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะติดตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ โดยตลาดประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ (PCE) ซึ่งเฟดใช้ติดตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ อาจปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในเดือนกรกฎาคม สู่ระดับ 4.2% หนุนโดยการบริโภคที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับธีมการเปิดประเทศ อาทิ การท่องเที่ยว การบริโภคอาหารนอกบ้าน เป็นต้น

 

ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ เงินบาทแข็งค่าผ่านแนว 32.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปที่ระดับ 32.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ(ราว 10น.) ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์ โดยเงินบาทยังน่าจะได้รับอานิสงส์บางส่วนจากการปรับโพสิชันตามปัจจัยทางเทคนิค  ประกอบกับตลาดยังคงรอติดตามสุนทรพจน์ของประธานเฟดในคืนนี้ โดยเฉพาะสัญญาณที่อาจสะท้อนถึงการเตรียมแนวทางการชะลอวงเงินซื้อสินทรัพย์ของมาตรการ QE ของเฟดว่า จะมีโอกาสเริ่มดำเนินการภายในปีนี้ หรือไม่  

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 32.60-32.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยที่ตลาดรอติดตามจะอยู่ที่สุนทรพจน์ของประธานเฟดจากที่ประชุมประจำปีของเฟดที่แจ็กสัน โฮล สถานการณ์โควิดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ข้อมูลรายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคล อัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Index  เดือนก.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค.