‘ใต้ฟื้น’ ยางพาราพุ่งทะลุ 50 บาท แนวโน้มยัง‘ยืน’ยาว

26 ส.ค. 2564 | 02:22 น.

เศรษฐกิจใต้หายใจคล่องนายกสมาคมนํ้ายางข้นไทยเผย เข้าฝน- พิษโควิดกระทบผลผลิตเวียดนาม ดันราคานํ้ายางพาราสดทะลุ 52-53 บาทต่อกิโลกรัม จับตามาเลเซียเร่งสปีดภาคผลิต ระบายสินค้าได้เร็วขึ้นยังต้องการวัตถุดิบเพิ่ม มั่นใจราคาลงยากในช่วงเดือนนี้

นายชัยพจน์ เรืองวรุณวัฒนา นายกสมาคมนํ้ายางข้นไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงสถานการณ์ราคานํ้ายางสด ที่มีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในขณะนี้ที่ 52-53 บาทต่อกิโลกรัมว่าราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างจะเร็วในขณะนี้ เนื่องจากผลกระทบจากฝนตก เกิดภาวะขาดของ ทำให้ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
    

“จีนที่กลับเข้ามาซื้อมากขึ้น เนื่องจากทางประเทศเวียดนามประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวนมาก ทำให้มีข้อจำกัดสำหรับเกษตรกรที่กรีดยาง จึงไม่สามารถส่งของให้จีนในราคาถูกได้”


    นายชัยพจน์ กล่าวว่า ราคานํ้ายางสดที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนั้น เริ่มมีสัญญาณบวกตั้งแต่ราคา 40 กว่า 45-46 บาท ไล่ขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงขณะนี้อยู่ที่ 52-53 บาทต่อกิโลกรัม
‘ใต้ฟื้น’ ยางพาราพุ่งทะลุ 50 บาท แนวโน้มยัง‘ยืน’ยาว

สำหรับแนวโน้มราคานํ้า ยางสดนั้น นอกเหนือจากปัจจัยสภาพอากาศที่ทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นมาในขณะนี้ แต่คาดว่าเมื่อสภาพอากาศ เริ่มดีขึ้น ไม่มีฝนตกลงมา ราคาก็น่าจะย่อตัวลงบ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะราคานํ้ายางสด ที่ปรับขึ้นมาใกล้เคียงกับราคายางแผ่นดิบ ซึ่งปัจจุบันราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 54 บาทต่อกิโลกรัม

“พอราคาดีหน่อย จากที่จะทำยางแผ่นก็จะกลับมาเป็นนํ้ายางสดมากขึ้นก็จะทำให้ปริมาณนํ้ายางมากขึ้นในตลาด ทำให้ราคาก็อาจจะไม่ร้อนแรงขึ้นมากไปอีก”
    

นายกสมาคมนํ้ายางข้นไทย ยังกล่าวถึง สภาพเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นทางยุโรปหรืออเมริกา ก็มีการฟื้นตัวกลับมา รวมไปถึงทางจีนสถานการณ์เกี่ยวโควิด-19 ก็เริ่มดีขึ้นอุตสาหกรรมยางล้อเองก็ยังไปได้อยู่ ในขณะที่ฝั่งของถุงมือยางนั้น แน่นอนว่าออเดอร์ก็ยังดีอย่างต่อเนื่อง ส่วนสินค้าตัวอื่นๆเช่น หมอน ที่นอน ฟูก ก็ยังกระทบหนักอยู่ ซึ่งก็แล้วแต่ผลิตภัณฑ์ แต่โดยรวมแล้วก็ยังโอเค เมื่อเปรียบเทียบกับราคาในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว  (2563) ถือว่าในช่วงนั้นราคาปรับลดลงค่อนข้างรุนแรง แต่ในปีนี้ที่ราคาปรับขึ้นถือว่ายังดี
 

ส่วนสถานการณ์ในประเทศมาเลเซีย นายกสมาคมนํ้ายางข้นไทยกล่าวว่า ประเทศมาเลเซียตอนนี้เริ่มจะประกาศเรื่องของการให้กลับมาทำงานมากขึ้นในภาคการผลิต จาก 60-70 เปอร์เซ็นต์ น่าจะปรับเป็น 70-80 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้จะทำให้สถานการณ์การส่งออกยางไปยังประเทศมาเลเซียจะดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าออเดอร์เก่าที่เขาสั่งซื้อจากเราไป เนื่องจากที่ผ่าน มามีการสั่งสินค้าแต่ยังไม่ได้รับของมาประมาณ 2 เดือน ได้เริ่มทยอยรับ
    

“แต่ถ้ารัฐบาลมาเลเซียเปิดกว้างให้ผลิตมากขึ้น ออเดอร์เขามีแน่นอน เชื่อว่าน่าจะดีขึ้น การระบายของก็จะเร็วขึ้น ดูแล้วราคายางพาราในช่วงระยะเวลาของเดือนนี้ ราคาจะยังลงยากอยู่” นายกสมาคมนํ้ายางข้น ไทย กล่าว 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,708 วันที่ 26-28 สิงหาคม พ.ศ.2564