26 ส.ค. จับตา บอร์ด กยท. ยกระดับบัตรสีชมพู สำเร็จหรือไม่

25 ส.ค. 2564 | 13:56 น.

4 ทหารเสือ บอร์ดเกษตรกร กยท. รวมพลัง พลิกเกมสู้ ยกระดับบัตรสีชมพู 4 แสนราย มีลุ้น เข้าถึงสิทธิประกันอุบัติเหตุ ประกันชีวิต เงินกู้ เท่าเทียมบัตรสีเขียว ลุ้นสำเร็จหรือไม่ 26 ส.ค. ต้องจับตา

สังข์เวิน ทวดห้อย

 

นายสังข์เวิน  ทวดห้อย  กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ว่า หากมีวาระเข้าจริง "สถานะบัตรสีชมพู" ในเบื้องต้น ต้องยอมรับว่ายังไม่เท่าเทียม ยังขาดมาตรา 35 มาตราเดียวก็คือ ขอทุนปลูกแทน นอกนั้นไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการ หรือเงินกู้ ใช้ได้ทันที ยกเว้น มาตรา 35 ระบุเป็นกฎหมายไว้เลย ถ้าหาก กยท.จะให้ทุนสงเคราะห์ที่ดินแปลงไหนก็แล้วแต่จะต้องเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ ระบุไว้ชัด 

 

“เกษตรกรบัตรสีชมพู 4 แสนราย  ได้มีการผลักดันกันมานานแล้ว เพราะอยากให้คนที่มีบัตรสีชมพูขึ้นทะเบียน ถึงแม้จะยังไม่เป็นบัตรสีเขียวแก่ แค่บัตรสีเขียวอ่อน ก็แสดงว่ายังพอมีช่องทาง หากวันที่ 26 ส.ค. บอร์ด กยท. มีอนุมัติให้บัตรสีชมพูขึ้นทะเบียนกับ กยท.ให้ถูกต้อง ในเดือนถัดไปเราก็ต้องขอเอกสาร 46 รายการมาเพิ่มเติม ทั้งหมดจะเป็นหลักฐานที่ทางรัฐบาลได้อนุญาตให้ทำกินถูกต้องตามกฎหมาย เราก็ต้องนำตรงนี้มาเพิ่มเข้าบอร์ดใหม่อีกครั้ง แล้วต้องประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาก็สามารถขึ้นทะเบียนได้เหมือนบัตรสีเขียวทั่วไป”

 

นายสังข์เวิน กล่าวว่า  เมื่อยกระดับแล้วประกันชีวิตที่คุ้มครองแล้วหากจะไปขอเพิ่มกรอบงบประมาณเพิ่มเพื่อให้เกษตรกลุ่มบัตรสีชมพูตกหล่น 4 แสนราย ที่เพิ่งยกระดับขึ้นมา ก็คงไม่ทัน  ก็ต้องรอไปปีหน้า

สุนทร รักษ์รงค์

 

นายสุนทร  รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  การต่อสู้เรื่องยกระดับบัตรสีชมพู เป็นบัตรสีเขียว เป็นการต่อสู้มาอย่างยาวนาน เริ่มต้นตั้งแต่ สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ได้ทำหนังสือถึงพล อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานบอร์ด กยท. เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559

 

"เป็นประวัติศาสตร์ต้องบันทึก หลังจากนั้นทางสมาคมเองก็ได้ไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าประกาศของคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยโดยเงื่อนไขหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางปี 2558 น่าจะเป็นระเบียบที่ขัดต่อ พ.ร.บ. และเป็นการละเมิดสิทธิ"

 

ต่อมาก็มีหนังสืออีกฉบับเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2560  ถึงประธานบอร์ด กยท.เป็นหนังสือจาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้แก้ไขประกาศ เพราะไปละเมิดสิทธิพี่น้องกลุ่มนี้ ตั้งแต่นั้นมา กยท.ก็ไม่ได้ดำเนินการอะไร เพราะความเห็นของคณะกรรมการสิทธิฯ ไม่มีบทลงโทษ จนกระทั่งข้อเรียกร้องทุกเครือข่าย กยท. ทุกกลุ่มแกนนำเกษตรกรทุกกลุ่ม โดยเฉพาะท่านบอร์ด "สาย อิ่นคำ" ซึ่งท่านก็ต่อสู้ในฐานะที่ท่านเป็นบอร์ดจนกระทั่งท่านเสียชีวิตในขณะปฏิบัติติหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวนี้ก็ยังไม่สำเร็จ

 

"พอพวกเราเข้ามาเป็นบอร์ด 4 ทหารเสือ ก็มีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าต่อสานต่อ นำเรื่องนี้เข้าหารือในการแสดงวิสัยทัศน์บอร์ด กยท.ก็มีความเห็นว่าประกาศฉบับนี้ขัดกับพ.ร.บ.จริง เพราะว่าในมาตรา4 ว่าด้วยการขึ้นทะเบียน มี 2 ประเภท ก็คือ พี่น้องที่มีกรรมสิทธิ์ และสิทธิครอบครองที่ชอบด้วยกฎหมาย และพี่น้องที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 2 กลุ่มนี้ มาตรา 4 สามารถที่จะขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยางได้"

แต่ประกาศไประบุแค่ต้องมีกรรมสิทธิและสิทธิครอบครอง เท่ากับว่าทำให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ อยู่ภายใต้การวัดแปลง ได้มาซึ่งหนังสือแสดงสิทธิ ตามมติ ครม. วันที่ 26 พ.ย. 2561 จึงเป็นที่มาในการตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางในการรับรองการเป็นเกษตรกรชาวสวนยางของเกษตรกรที่แจ้งข้อมูลการปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย

 

ที่สำคัญต้องให้เครดิต ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  อย่างน้อยบัตรสีชมพู ยังขึ้นทะเบียนไม่ได้ แต่ภายใต้รัฐบาลนี้ หรือตั้งแต่ตั้งประเทศไทยเป็นต้นมา บัตรสีชมพู ไม่เคยเข้าถึงมาตรการการช่วยเหลือจากรัฐบาล มีแต่กล่าวหาว่าเป็นผู้ถูกบุกรุกป่า แต่วันนี้ได้ชัยชนะเข้าถึงโครงการประกันรายได้ยางพารา เข้าถึงนโยบายการเยียวยาช่วยเหลือผลกระทบจากโควิดที่ผ่านมา วันนี้ยกสุดท้ายก็คือว่า คุณสามารถขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยางตามมาตรา 4 ได้

 

ในวันที่ 26 สิงหาคม 2564 วาระนี้จะเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมของคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย มาลุ้นกันว่าบอร์ดการยางแห่งประเทศไทยจะมีมติเห็นชอบหรือไม่ สี่ทหารเสือบอร์ดการยาง คือ สังข์เวิน ทวดห้อย สง่า ขันคำ  อรอนงค์ อารินวงค์ และสุนทร รักษ์รงค์ จะต่อสู้อย่างเต็มที่

 

สง่า ขันคำ

 

นายสง่า  ขันคำ  บอร์ด กยท. กล่าวว่า อยากให้พี่น้องเกษตรชาวสวนยางได้รับสิทธิเหมือนกับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนที่มีเอกสารสิทธิหรือบัตรสีเขียว ซึ่งสมัยก่อนกลุ่มเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ เป็นกลุ่มธรรมชาติ มีความสัมพันธ์กับกลุ่ม กยท.เป็นอย่างดี ในสมัยที่เป็น สกย. แต่พอเป็น กยท. มี กฎหมายแล้ว ทำให้ชาวสวนกลุ่มนี้ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ทำให้เสียสิทธิไป

 

ปัจจุบันบัตรสีชมพู ยกเว้นเรื่องสวัสดิการต่างๆ ประกันชีวิต โค่นยางปลูกแทน กู้เงินไม่ได้ ไม่มีเอกสารสิทธิมายื่น ถ้ายกระดับแล้ว ใจจริงอยากจะให้ปลดล็อกทั้งหมด แต่ถ้ายกระดับแล้วไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการได้ เชื่อว่าพี่น้องเกษตรกรจะมาตั้งคำถาม  เพราะถ้ายกระดับขึ้นมา สิทธิประโยชน์ทุกอย่างจะต้องได้รับสิทธิเหมือนบัตรสีเขียวเช่นเดียว หากไม่ได้เกษตรกรก็จะถามอีกว่าจะยกระดับทำไม นี่แหละจะตอบคำถามไม่ได้ จะต้องหาวิธีให้ได้ นี่คือความมุ่งหวังความตั้งใจของบอร์ดเกษตรกรด้วย

 

ดังนั้นในวันที่ 26 ส.ค.นี้คาดว่าจะเป็นไปในรูปแบบนั้น ที่ดินทำกินที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ต้องเป็นสมาชิกที่ได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน ขึ้นทะเบียนปีไหน ที่ทำอยู่บุกรุกป่าหรือไม่ หรือได้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ไม่สามารถที่จะรับสิทธิ ขึ้นสิทธิเป็นเอกสารใดใดได้ก็ต้องหาวิธีให้เกษตรกรได้รับสิทธิ

 

“ผมในนามของผู้แทนสถาบันเกษตรกรที่เข้ามาอยู่จุดนี้ก็หวังว่าจะเข้ามาทำหน้าที่ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรเราให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน”

อรอนงค์ อารินวงค์

ปิดท้ายบอร์ดผู้หญิงคนเดียว นางสาวอรอนงค์ อารินวงค์ กรรมการ กยท.    กล่าวว่า สถานะ  “บัตรสีชมพู” ที่ไม่ได้รับสิทธิ ก็แค่ประกันอุบัติเหตุ นอกนั้นยกระดับเทียบเท่าบัตรสีเขียว ได้รับความช่วยเหลือจากเกษตรกรทั้งหมดแล้ว ส่วนโค่นยางปลูกแทน ตามกฎหมาย กยท.ไม่ได้อยู่แล้ว แต่ที่มีความต้องการอยากจะให้ยกระดับให้เทียบเท่ากับบัตรสีเขียวก็ในเรื่อง ได้รับสวัสดิการ วงเล็บ5 ด้วย เช่นประกันอุบัติเหตุ เงินกู้ยืม แต่ถ้าให้โค่นยางปลูกผิดกฎหมาย ให้ไม่ได้

 

“บัตรสีชมพูก็จ่ายเงินเซสส์เหมือนบัตรสีเขียวทุกอย่าง ซึ่งตอนที่จ่ายก็ไม่ได้มีแบ่งแยกว่าบัตรสีเขียวหรือบัตรสีชมพู อยากจะให้เสมอภาคตรงนี้ ที่ผ่านมามีความเสียเปรียบทุกอย่าง เราก็จะมีเหตุผลในการรับรองเพื่อให้บัตรสีชมพุได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน ดังนั้น ในวันที่ 26 สิงหาคม ในวันประชุมนั้นจะมีเหตุผลประกอบ เป็นสิทธิการขึ่นทะเบียน กยท. ไม่เชื่อมโยงกับกฎหมายป่าไม้ แต่ตัวแทนเกษตรกรเสียเปรียบเพราะมีโควตาสัดส่วนน้อย แค่ 4 คน ดังนั้นขอพลังใจจากพี่น้องบัตรสีชมพูให้การต่อสู้ในครั้งนี้สำเร็จผ่านพ้นไปด้วยดี”