"ปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์" หวังกต.คืนความเป็นธรรม ให้นั่งผู้พิพากษาอาวุโส 

22 ส.ค. 2564 | 13:19 น.

"ปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 วอนคณะกรรมการตุลาการ หรือ กต.ให้ความเป็นธรรมตามกฎหมาย ชี้หากไม่ได้รับความเป็นธรรม จะใช้สิทธิทางกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่23ส.ค.นี้ คณะกรรมการตุลาการ(กต.) สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม จะมีการประชุมพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการศาลยุติธรรมประจำปี2564 ในส่วนที่ยังค้างและอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ที่จะมีผลในวันที่1ต.ค.นี้ 

โดยวาระที่น่าสนใจคือ  กรณีนายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ช่วยทำงานผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกาและประธานคณะกรรมการตุลาการเป็นจำเลย

ฐานเป็นเจ้าพนักงานประพฤติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลอาญา มาตรา 157 โดยต้องพิจารณาว่ากต.จะพิจารณาให้นายปรเมษฐ์ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสในปีนี้หรือไม่ หลังจากเลื่อนพิจารณามาหลายครั้งแล้ว

โดยในปีนี้มีการยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายและการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของข้าราชการสำนักงานศาลยุติธรรม และกต.บางรายและยังไม่มีความคืบหน้า อาทิ  กรณีที่ประธานศาลฎีการลงนามตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อกล่าวหาว่าอดีตประธานศาลฎีกา 2 คน และ อดีตประธานศาลอุทธรณ์ 1 คน

ปรากฎชื่อเป็น 3 คนในผู้พิพากษาของศาลฎีกา ที่เว็บ Law360 รายงานข่าวและวิเคราะห์ในด้านกฎหมายของสหรัฐอเมริกา กล่าวอ้างถึงในผลการสอบสวนภายในของบริษัท โตโยต้า คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่น ระบุว่าเข้าไปเกี่ยวพันกับการจ่ายสินบนจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์(ประเทศไทย)จำกัด 

ที่จ่ายผ่านบริษัทสำนักงานกฎหมาย เพื่อให้ศาลมีคำตัดสินในทางที่เป็นคุณในเรื่องข้อพิพาททางภาษีจากการนำเข้ารถโตโยต้า พรีอุส ระหว่างปี 2555-2558 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้บ.โตโยต้า (ประเทศไทย) จ่ายภาษีและค่าปรับกว่า 11,000 ล้านบาท เมื่อประมาณปี 2563  แต่ บ.โตโยต้า(ประเทศไทย)ยื่นฎีกา   โดยกรณีนี้ศาลฎีกาได้รับเรื่องนี้ไว้ในระบบแล้ว

กรณีนายประสิทธิ์ เจริญถาวรโภคา รองประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) ได้ประกาศลาออกกลางที่ประชุม เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา เพราะไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของ อ.ก.ต. เสียงข้างมาก ในการแต่งตั้งผู้พิพากษารายหนึ่ง ให้ เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา  

ทั้งที่ถูกร้องเรียนว่ามีส่วนเข้าไปพัวพันกับการแทรกแซงกระบวนการต่อสู้คดีข้อพิพากษาที่ดินจำนวน 46 แปลง ระหว่างบริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่งกับคู่กรณี ซึ่งมีคดีฟ้องร้องกันจำนวนหลายคดีทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง จนกระทั่งบริษัทต้องยอมจ่ายเงินชดเชยจำนวน 400 ล้านบาท 

กรณีที่นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี   , สำนักงานปปช. และประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.)และกรรมการ ก.ต. เรื่องคัดค้านบัญชีรายชื่อการแต่งตั้ง นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล รองประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์

เนื่องจากมีเหตุสงสัยที่จะมีการกระทำผิดวินัยอันมีลักษณะการหาเสียงเลือกตั้ง ก.ต.บุคคลภายนอกครั้งที่ผ่านมาในไลน์ ”สภาตุลาการ” ทั้งที่อยู่ในตำเเหน่ง ก.ต. แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้
 

เเหล่งข่าวจากสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า หากมติกต.ในวันที่23ส.ค.ระบุว่า จะไม่ให้นายปรเมษฐ์ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส คาดว่านายปรเมษฐ์จะใช้สิทธิ์ ตาม กฎหมาย และรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิทธิเสรีภาพ ปวงชนชาวไทย ย่อมได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเสมอภาคกัน รวมทั้งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ มาตรา45ที่ระบุว่า   

ในการประชุมกต.ห้ามไม่ให้กรรมการผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องพิจารณาเข้าร่วมประชุมและลงมติในเรื่องนั้น เพราะโดย ปกติกรรมการผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมต้องรู้ดีว่า ไม่สมควรเข้าไป ประชุม และ ลงมติ ที่เป็นผลร้ายแก่คู่กรณี ที่มีส่วนได้เสีย ในเรื่องนั้น

“มองสิ่งที่นายปรเมษฐ์เคยยื่นคำร้องไว้ว่าการพิจารณาแต่งตั้งดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส ต้อง พิจารณา ตามพ.ร.บ.หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสฉบับที่ 4 พศ 256 มาตรา 6/1 บัญญัติว่า   ข้าราชการตุลาการซึ่งมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณใดให้พ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ เมื่อสิ้นงบประมาณนั้น และให้ไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสจนกว่าจะพ้นจากราชการตามมาตรา 8/1 และมาตรา 9 บัญญัติว่าข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมซึ่งจะมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณใดให้ กต. จัดให้มีการประเมินสมรรถภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตุลาการ แล้วเสนอผลการประเมินให้กต.พิจารณาประกอบการแต่งตั้ง
เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายจะได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสแล้ว กต.ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญของสถาบันศาลยุติธรรมในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายและพิจารณาวินัยข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม จะต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมายโดยให้ความเป็นธรรมแก่ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม”เเหล่งข่าววิเคราะห์สิ่งที่นายปรเมษฐ์ระบุไว้

เเหล่งข่าวกล่าวว่า การดำเนินการของนายปรเมษฐ์ที่ผ่านมาโดยมีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมมาโดยตลอดแต่นายปรเมษฐ์คงมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ประธานศาลฎีกามีนโยบายว่าศาลเป็นที่พึ่งแรกของประชาชน แต่ก็ดีผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมไม่ได้รับความเป็นธรรมจะหาที่พึ่งจากที่ใด ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามไม่ให้ประชาชนหรือผู้พิพากษาใช้สิทธิทางศาลแล้ว  

ตนในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมย่อมใช้สิทธิทางศาลได้ตามกฎหมายตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 25 และมาตรา 4บัญญัติว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิทธิเสรีภาพย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญอย่างเสมอภาค


เเหล่งข่าวกล่าวว่  หากกต. พิจารณา ลงมติไม่ให้นายปรเมษฐ์ดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสแล้ว จะมีผลทำให้พ้นจากตำแหน่ง และเป็นการลงโทษทางวินัยล่วงหน้า  นายปรเมษฐ์น่าจะต่อสู้ว่า เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย น่าจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ยังสอบสวน ไม่แล้วเสร็จ เป็นแนวบรรทัดฐานและมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องของผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมและสถาบันศาลยุติธรรมในอนาคต เกิดความเสียหายยากจะเยียวยาได้ ในภายหลัง

การกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เช่นนี้มีผลทำให้ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิทางศาลฟ้องร้อง ทั้ง ทางแพ่งและทางอาญา ต่อไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมในฐานะประชาชนชาวไทยมีสิทธิได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญอย่างเสมอภาคเช่นเดียวกัน

“มองว่าดังนั้นการที่นายปรเมษฐ์ถูกร้องเรียนกล่าวหาโดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นดำเนินการสอบสวนโดยไม่ชอบ และคณะกรรมการสอบสวนวินัยยังสอบสวนไม่เสร็จ ตามกฎหมายต้องแต่งตั้งดำรงตำแหน่งเป็น ผู้พิพากษาอาวุโส โดยต้องได้รับความเป็นธรรมเช่นเดียวกับผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมอื่น และกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมบางท่าน ถูกร้องเรียนกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายและผิดวินัย แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆอันเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ส่วนกรณีนายปรเมษฐ์รีบเร่งเร่งด่วน ด่วนสรุปดำเนินการอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่วัน นายปรเมษฐ์น่าจะต่อสู้ว่าการไม่ได้รับความเป็นธรรมเช่นนี้จะอธิบายต่อ ประชาชนและสังคมได้อย่างไร ว่าไม่มีการแพ็กมาจากบ้าน โดยไม่ได้พิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมาย ตามที่นายประสิทธิ์ รองประธานศาลฎีกาในฐานะ ประธานอนุ กต. เคยระบุตามที่เป็นข่าวไม่กี่วันมานี้”เเหล่งข่าวกล่าว

นายปรเมษฐ์ กล่าวว่า ตนหวังจะได้รับความเป็นธรรม ในการพิจารณาจากกต.ในครั้งนี้ เพื่อเป็นแนวบรรทัดฐาน  มาตรฐาน ของผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม ในอนาคตต่อไป