โควิด-19 ระลอกใหม่ป่วนการท่องเที่ยว วัคซีนพาสปอร์ตก็ไม่ช่วย!

20 ส.ค. 2564 | 00:03 น.

โควิดระลอกใหม่กระทบการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกและไทยครึ่งปีหลัง Travel Bubble หนุนท่องเที่ยวยุโรปช่วงฟุตบอลยูโรเพียงเล็กน้อย ขณะที่วัคซีนพาสปอร์ต ยังติดกำแพงกักตัวในหลสยประเทศ

แนวโน้มการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกกลับมาเผชิญความท้าทายอีกครั้ง เมื่อหลายประเทศกำลังประสบกับการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เร่งตัวขึ้นในหลายประเทศ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการระบาดระลอกที่ 4 ของโลก ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ กระทบความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

แม้ช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 กิจกรรมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศฟื้นตัวได้ในบางภูมิภาคและบางประเทศ เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่บรรเทาลง การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้น ทำให้ทางการหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการต่างๆ การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยนำรูปแบบวัคซีนพาสปอร์ตมาใช้สำหรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสเพื่อลดอุปสรรคในการเดินทางระหว่างประเทศ และการทำสัญญาการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำอย่าง Travel Bubble

 

โดยในหลายประเทศมีนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในภูมิภาคยุโรป ได้รับปัจจัยหนุนจากการจัดมหกรรมกีฬาอย่างการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 ที่หลายประเทศในยุโรปเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ขณะที่สถิติล่าสุดขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ผู้เดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกในช่วงระหว่างเดือนม.ค.-พ.ค. ปี 2564 มีจำนวน 78.59 ล้านคน

อย่างไรก็ดี ทิศทางการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกในช่วงที่หลือของปี 2564 มีความเปราะบางสูง เมื่อการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายประเทศทั่วโลก สร้างความกังวลต่อการท่องเที่ยวอีกครั้ง สะท้อนจากเครื่องชี้วัดกิจกรรมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกอย่างกูเกิ้ล Destination Insight (Travel Insights with Google) พบว่า ความต้องการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศลดลงผ่านการค้นหาโรงแรมและที่พักปรับตัวลงหลังจากที่ผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น

 

 

นอกจากนี้ ทางการหลายประเทศต้องยกระดับมาตรการจำกัดการเดินทางท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และออกคำเตือนประชาชนในการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการเดินทางระหว่างประเทศต่อไป แม้จะมีการใช้ระบบวัคซีนพาสปอร์ตเข้าช่วยลดอุปสรรคในการเดินทางท่องเที่ยว แต่ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ อาทิ ชนิดของวัคซีนที่ได้รับการยอมรับในแต่ละประเทศ ขณะที่บางประเทศแม้นักท่องเที่ยวจะได้รับการฉีดวัคซีน แต่ถ้ามาจากประเทศเสี่ยงสูงก็ยังคงต้องกักตัว 

 

จากสถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกในปี 2564 น่าจะหดตัวประมาณ 45% จากปีก่อน หรือมีจำนวนเพียงประมาณ 220 ล้านคน จากจำนวน 399 ล้านคนในปี 2563 และจากสถานการณ์โควิดที่ลากยาวทำให้การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกคาดว่าจะยังใช้ระยะเวลายาวนานขึ้น หรืออย่างน้อยกว่า 4 ปี หรือหลังปี 2568 กว่าที่ตลาดการท่องเที่ยวโลกจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาด

ทิศทางนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปี 2564 นี้ มีความท้าทายมากขึ้นจากหลายปัจจัย เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศที่ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อสูง ทำให้ทางการไทยจำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมการการระบาดในประเทศ ซึ่งไม่เอื้อต่อกิจกรรมการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันทางการในหลายประเทศมีการยกระดับคำเตือนสำหรับประชาชนที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย

 

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้ Special Tourist Visa (STV) เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยต่อเนื่อง และในเดือน ก.ค. 64 การเปิดโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าท่องเที่ยวในไทยสูงเกิน 1 หมื่นคน ในรอบ 10 เดือนหลังจากที่ไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศที่ยังน่ากังวลจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยังสูง และยังไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลายในระยะเวลาอันใกล้ สร้างความกังวลและมีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว เห็นได้จาก เครื่องชี้การท่องเที่ยวอย่างการค้นหาที่พักผ่านเว็บไซต์ต่างๆ อย่างกูเกิ้ล Destination Insight (Travel Insights with Google) พบว่า เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศสูงขึ้น ความต้องการค้นหาโรงแรมและที่พักในพื้นที่ภูเก็ตลดลง

 

ขณะเดียวกัน ทางการในหลายประเทศยกระดับคำเตือนประชาชนในการเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งรวมถึงประเทศไทย เช่น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC (Center for Disease Control and Prevention) จึงไม่น่าจะเป็นผลดีต่อแนวโน้มตลาดท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ เป็นตลาดที่สำคัญของการท่องเที่ยวไทยในช่วงนี้ โดยนับจากประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภท STV ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – เดือนมิถุนายน 2564 นักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมีจำนวน 5,921 คน ซึ่งมีจำนวนมากเป็นอันดับ 1 ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาติที่เดินทางมาเที่ยวไทยทั้งหมด

 

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูงซึ่งรวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการกลายพันธุ์ จะมีผลกระทบต่างๆ ตามมาต่อแผนการผ่อนคลายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ การท่องเที่ยวของไทยต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากความตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มเติม ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาจจะต่ำกว่าที่เคยคาด ส่งผลให้ทั้งปี 2564 นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะมีจำนวน 1.5 แสนคน จากกรอบเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.5-6.5 แสนคน

 

โดยมองว่าหากทางการสามารถควบคุมการระบาดของโควิดในพื้นที่ท่องเที่ยวที่เป็นเป้าหมายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ได้ดีในช่วงที่เหลือของปี สถานการณ์การท่องเที่ยวน่าจะทยอยกลับมาได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้