Krungthai COMPASSประเมินเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตปี66

17 ส.ค. 2564 | 16:04 น.

ศูนย์วิจัยกรุงไทยประเมินเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตปี66 หลังสิ้นปี64 คาดจีดีพีโต 0.5%และ 3.9%ในปี65

ศูนย์วิจัยกรุงไทยประเมินเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตปี66 หลังสิ้นปี64 คาดจีดีพีโต 0.5%และ 3.9%ในปี65 ระบุวิกฤตโควิดสร้างรอยแผลเป็นทางเศรษฐกิจ และส่งแรงกระเพื่อมต่อผลิตภาพของไทยในระยะยาวผ่าน 3 ปัจจัย “หนี้ครัวเรือนสูง-ตลาดแรงงานเปราะบาง- ความเชื่อมั่นและเสน่ห์ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ”

Krungthai COMPASSประเมินเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตปี66

นางสาวพิมฉัตร เอกฉันท์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทยประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2564 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวที่ระดับ 0.5% คาดว่ามาตรการควบคุมโรคแบบกึ่งล็อกดาวน์อาจลากยาวอย่างน้อย 2 เดือน (หรือจนถึงสิ้นเดือน ก.ย.) ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงตลอดช่วงที่เหลือของปีตามการคาดการณ์ของกรมควบคุมโรค ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มหดตัว ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำค่อนข้างมาก จากการระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ Delta ซึ่งมีความสามารถในการแพร่กระจายโรคได้รวดเร็วกว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม

Krungthai COMPASSประเมินเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตปี66

สวนทางกับการเริ่มต้นบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคที่เป็นไปอย่างล่าช้า นอกจากนี้ อัตราการฉีดวัคซีนของประชากรที่ทำได้ค่อนข้างต่ำมาก และมีข้อจำกัดด้านประสิทธิผลของวัคซีนในการรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์

นอกจากนี้โอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม เนื่องจากเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปียังมีความเสี่ยงต่ำอย่างมีนัย

 

สำหรับปี 2565คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.9% ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มคลี่คลายได้ในไตรมาส 2/2565ท่ามกลางความคืบหน้าในการเร่งกระจายวัคซีน ส่วนอุปสงค์ในประเทศจะทยอยฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ เช่นเดียวกับแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเริ่มเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง

 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยอาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี (ปี 2566) กว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤต เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำนับตั้งแต่หลังวิกฤตการเงินโลกปี 2551 โดยขยายตัวเฉลี่ย 4.8% ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการเงินโลก (ปี 2541-2551) ก่อนทยอยเติบโตชะลอลงเหลือเพียงเฉลี่ย 3.3% ในช่วง 10 ปีให้หลัง (ปี 2551-2561) ทั้งนี้ วิกฤต COVID-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ก็ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ให้หดตัวถึง 6.1% และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่สอง

 

สำหรับวิกฤตครั้งนี้ได้สร้างร่องรอยแผลเป็นทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังส่งแรงกระเพื่อมต่อผลิตภาพของไทยในระยะยาวผ่าน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

(1) หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง กดดันความสามารถในการจับจ่ายและการก่อหนี้ใหม่ในอนาคต โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 90.5% เมื่อไตรมาส1 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 89.4% ซึ่งสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จะส่งผลต่อความสามารถในการจับจ่ายและการก่อหนี้ใหม่ของครัวเรือน ตลอดจนเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของหนี้เสียที่จะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และส่งผลทางลบย้อนกลับมายังเศรษฐกิจต่อไป

Krungthai COMPASSประเมินเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตปี66

(2)ตลาดแรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะในมิติของสาขาวิชาที่ไม่ตรงกับความต้องการมากถึง 37% เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่ม OECD ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 32% (OECD, 2020) ซึ่งจะยิ่งส่งผลต่อความพร้อมในการปรับตัวของแรงงานเข้าสู่ยุค 4.0 ของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ตลาดแรงงานไทยเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้าง ทั้งสัดส่วนประชากรวัยทำงานที่ลดลงเร็วที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโควิดส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานที่ลดลงเฉลี่ย 6%ในช่วง5ปีขณะที่มีแนวโน้มที่จะทำให้ผลิตภาพของไทยแย่ลงไปอีก  และมีส่วนทำให้เศรษฐกิจสูญเสียผลผลิตตามศักยภาพ (Potential output loss) ในระยะยาว

    (3) ความเชื่อมั่นและเสน่ห์ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติยังเป็นประเด็นที่ต้องคำนึงถึง  ด้วยปัจจัยเชิงโครงสร้างการผลิตของไทยที่ทำหน้าที่หลักเป็นเพียงรับจ้างผลิต (OEM) ประกอบกับส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นกลางที่ไม่ซับซ้อนอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ที่ได้อานิสงส์จากการลงทุนจากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น   แม้ไทยเป็นฐานการผลิต Hard Disk Drive รายใหญ่ของโลก แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่อย่าง Solid State Drive ซึ่งมีการย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังมาเลเซีย และ Semiconductor ที่กำลังเป็นที่ต้องการทั่วโลกที่มีฐานการผลิตหลักในไต้หวัน

 

นอกจากนี้ แม้ในระยะหลัง ไทยจะพยายามเน้นการส่งเสริมการลงทุนเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจอย่าง S-curve และ New S-curve แต่แรงจูงใจด้านการลดอัตราภาษีรายได้ให้กับนักลงทุนต่างชาติ ก็เป็นมาตรการที่กลุ่มประเทศคู่แข่งในอาเซียนใช้ทุกประเทศ ทำให้ความน่าสนใจของไทยในสายตาต่างชาติในระยะยาวยังเป็นประเด็นที่น่าขบคิด