“4 กุมาร”ยกโมเดลต่างประเทศแนะรัฐ “แก้โควิด-19” ดึงภาคประชาสังคมร่วม

16 ส.ค. 2564 | 04:45 น.

"4 กุมาร"เคลื่อนการเมือง “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์”ยกโมเดล “จีน-อินเดีย-สหภาพยุโรป” แนะรัฐบาลแก้ปัญหาโควิด-19 ระบาด ชี้ความสำเร็จในการควบคุมเกิดจากการทำงานร่วมกันอย่างลงตัวระหว่าง ภาครัฐ เอกชน และ ประชาสังคม

วันนี้(16 ส.ค.64) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า 

 

“ในสถานการณ์โรคโควิดแบบนี้ ผมคิดว่าความร่วมมือและร่วมใจกันของทุกภาคส่วนถือว่ามีความสำคัญมาก ๆ ครับ ภาครัฐอย่างเดียวอาจมีกำลังไม่พอ ภาคส่วนอื่น ๆ สามารถทำงานช่วยหนุนเสริมกันและกันได้ครับ

 

ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมานี้เราได้เห็นบทเรียนมากมายจากต่างประเทศครับ โดยเฉพาะประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาด จำนวนมากนั้น มีจุดร่วมกันคือ การทำงานร่วมกันอย่างลงตัวระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม

 

ภาคประชาสังคมถือว่ามีความน่าสนใจครับ และในหลายประเทศทั่วโลกก็ได้ใช้ประโยชน์จากภาคส่วนนี้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะการเข้าถึงในระดับพื้นที่ เครือข่ายการทำงานที่มีข้อมูลเชิงลึก หรือ เป็นกำลังเสริมสำคัญในการคุมโรคระบาดครับ

                                          “4 กุมาร”ยกโมเดลต่างประเทศแนะรัฐ “แก้โควิด-19” ดึงภาคประชาสังคมร่วม
 

ในกรณีของจีนหากเราได้ติดตามดูการควบคุมโรคระบาด จะพบเห็นกลุ่มคนที่สวมเสื้อคลุมสีแดง ใช่แล้วครับคนกลุ่มนี้คือ อาสาสมัครที่มาช่วยงานเจ้าหน้าที่ โดยคนกลุ่มนี้จะอยู่มีบทบาทหน้าที่ที่รัฐจะกำหนดมาให้ทำครับ

 

งานจำนวนมากที่ไม่ต้องใช้ทักษะมาก เช่น การให้ข้อมูลเบื้องต้นในการตรวจหาเชื้อ หรือการบอกตำแหน่งต่าง ๆ ในสถานีฉีดวัคซีน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานเฉพาะในส่วนการฉีดวัคซีนและตรวจโรคซึ่งมีค่ามหาศาลครับ ในสภาพที่บุคคลากรมีจำกัด

 

หรืออย่างในกรณีของอินเดียที่ผมเคยเขียนไปก่อนหน้านี้ เราจะได้เห็นบทบาทของภาคประชาสังคมที่ทำงานกับภาครัฐในการรับส่งผู้ป่วยตามเขตต่าง ๆ การส่งอาหารสำหรับคนที่ต้องกักตัว ไปจนถึงบริการเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ด้วย
นอกจากนี้พรรคการเมืองต่าง ๆ ในอินเดียก็ร่วมด้วยช่วยกันในการให้ความช่วยเหลือประชาชนภายใต้การแบ่งเขต หรือรูปแบบการช่วยเหลือที่แตกต่างกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือเร็วที่สุด ทั้งบริการออกซิเจน และการนำส่งประชาชนไปยังโรงพยาบาลครับ


ในสหภาพยุโรปเองบทบาทขององค์การภาคประชาสังคม ก็ค่อนข้างมีอย่างโดดเด่นภายใต้การประสานงานร่วมกันกับภาครัฐ เช่น การส่ง Care Package ไปในครัวเรือนต่าง ๆ การผลิตข้อมูลองค์ความรู้ ไปจนถึงการสร้างความการตระหนักรู้ในระดับชุมชน
 

สิ่งสำคัญที่ประเทศเหล่านี้มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ การมีกำลังคอยหนุนเสริมจากภาครัฐในการทำหน้าที่ของภาคประชาสังคม และอาสาสมัครครับ ซึ่งภาครัฐจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลัก คอยกำหนดบทบาทต่าง ๆ ที่อยากให้ภาคส่วนเหล่านี้ช่วยเหลือ

 

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาครัฐไม่ต้องใช้บุคลากรไปกับงานที่ภาคส่วนอื่นสามารถให้ความช่วยเหลือได้ครับ และภาครัฐสามารถระดมบุคลากรและงบประมาณไปทำงานที่เป็นส่วนสำคัญของการป้องกันการแพร่ระบาดแทน 

 

ผมคิดว่าในสถานการณ์แบบนี้ ภาครัฐอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองมาทำหน้าที่ในการเป็นผู้ประสานงานที่ดีด้วย มากกว่าที่จะแสดงบทบาทนำเพียงอย่างเดียว เพราะหลายเรื่องภาคส่วนอื่นอาจทำได้ดีและประสิทธิภาพสูงมากกว่า
ซึ่งภาครัฐสามารถใช้ศักยภาพของภาคส่วนเหล่านี้ได้ เพื่อให้นำทรัพยากรและบุคลากรไปใช้ในเรื่องที่มีความจำเป็น อันจะช่วยให้การบริหารสถานการณ์โควิด19มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้ครับ 

 

ผมมีความเชื่อว่าในวันนี้ทุกภาคส่วนในประเทศไทย พร้อมร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือและสนับสนุนงานของภาครัฐครับ”