เตือน "พายุ" 2 ลูก เข้าไทย จี้ 76 จังหวัด แจ้งรับมือล่วงหน้า 7 วัน

16 ส.ค. 2564 | 04:26 น.

กอนช. เปิดไทม์ไลน์ พายุเข้าไทย 2 ลูก พายุลูกแรก กลาง ก.ย.-กลาง ต.ค. ส่วนพายุลูกที่ 2 ถล่มใต้ ช่วง ต.ค.-ธ.ค. บิ๊กป้อม จี้ 76 จังหวัดเกาะติดสถานการณ์น้ำผ่าน “ศูนย์ฯ น้ำจังหวัด” แจ้งเตือนภัยชาวบ้าน รับมือฝนตกหนักถึงหนักมาก ท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 7 วันล่วงหน้า

สมเกียรติ ประจำวงษ์

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้เน้นย้ำและสั่งการในการประชุม กอนช. เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงาน “ศูนย์ข้อมูลทรัพยากรน้ำจังหวัด” ซึ่งปัจจุบันได้มีการเปิดใช้เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลทรัพยากรน้ำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ทางเว็บไซต์ http://pwrc.thaiwater.net/ เรียบร้อยแล้ว

 

โดย สทนช. ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. จัดทำขึ้นภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองหน่วยงาน  เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ รวมถึงประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการติดตามสถานการณ์น้ำในทุกจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือน ส.ค. - ต.ค.นี้ ที่ประชุม กอนช.ได้วิเคราะห์แนวโน้มและคาดหมายฝนบริเวณประเทศไทยตอนบน

 

ศูนย์ข้อมูลน้ำระดับจังหวัด

 

“ภาคเหนือ” “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน”  เตรียมการรับสภาวะฝนตกปานกลางถึงหนักที่จะเกิดขึ้น ส่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่มและน้ำท่วมได้ ขณะเดียวกัน ยังจะมีพายุหมุนเขตร้อนมีโอกาสเคลื่อนผ่านเข้ามาโดยมีศูนย์กลางบริเวณประเทศไทยตอนบน 1 ลูก ในช่วงกลาง ก.ย.64 เป็นต้นไปถึงกลาง ต.ค.64 และ บริเวณภาคใต้ 1 ลูก ช่วงเดือน ต.ค.- ธ.ค.64  

 

ดังนั้น รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและคาดการณ์ฝนอย่างใกล้ชิด โดยใช้ข้อมูลจาก “ศูนย์ข้อมูลทรัพยากรน้ำจังหวัด” ให้เป็นประโยชน์ เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ และทำงานเชิงป้องกันก่อนเกิดผลกระทบ โดยเฉพาะการแจ้งเตือน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบ เพื่อเตรียมรับมือล่วงหน้า 7 วัน รวมถึงได้เน้นย้ำให้เร่งดำเนินการจัดทำศูนย์ข้อมูลทรัพยากรน้ำระดับจังหวัดให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

 

ซึ่งจะมีผลในการวางแผนการพัฒนาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดได้อย่างแท้จริง โดยต้องประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานให้หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่ง สทนช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กอนช. ได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย รับทราบข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี

 

ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์ข้อมูลทรัพยากรน้ำจังหวัด ผ่านไปยังคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ร่วมเป็นกรรมการเพื่อเร่งรัดดำเนินการตามข้อสั่งการข้างต้นด้วย

 

อย่างไรก็ตาม สทนช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ จะประสานงาน กำกับ ติดตามผลดำเนินงานทุกหน่วยงานภายใต้ กอนช. ตามมาตรการรับมือฤดูฝนนี้ให้เกิดประสิทธิภาพตามเป้าหมายสูงสุด อาทิ เตรียมความพร้อมพื้นที่ลุ่มต่ำในการรับน้ำหลาก

 

การจัดจราจรน้ำเตรียมความพร้อมของคันกั้นน้ำ เครื่องสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ เครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ผักตบชวา และขยะในคลอง รวมถึงสื่อสารสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงด้วย