เหตุผลย้อนแย้ง? “สร้างรถไฟฟ้าพื้นที่เดียวกัน แต่ประมูลต่างกัน”

16 ส.ค. 2564 | 01:57 น.

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ซัดรฟม. เหตุผลย้อนแย้ง? สร้างรถไฟฟ้าพื้นที่เดียวกัน แต่ประมูลต่างกัน รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ใช้เกณฑ์ TOR ราคาตัดสิน รถไฟฟ้าสายสีส้ม -สายสีม่วงใต้ เจาะอุโมงค์เหมือนกันใช้เกณฑ์ TOR เทคนิค+ราคา

 

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กำลังประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกและสายสีม่วงใต้ โดยทั้ง 2 สายนี้มีเส้นทางลอดใต้เกาะรัตนโกสินทร์และใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งได้เปิดใช้งานแล้ว แต่ รฟม.ใช้เกณฑ์ประมูลต่างกัน เพราะอะไร?

 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์โพสต์เฟซบุ๊ก วันที่16สิงหาคม2564 ถามคำถามเหตุผลที่ รฟม.อ้างย้อนแย้งหรือไม่? ติดตามได้จากบทความนี้

รฟม.ใช้เกณฑ์อะไรในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จึงสามารถก่อสร้างได้สำเร็จสมบูรณ์?

การประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค ซึ่งต้องขุดเจาะอุโมงค์ใต้เกาะรัตนโกสินทร์และใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นครั้งแรก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ใช้เกณฑ์ประมูลโดยพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากผู้ยื่นข้อเสนอผ่านเกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิคซึ่งจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 70% ก็จะพิจารณาข้อเสนอด้านราคาต่อไป ใครเสนอราคาต่ำสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล

ปรากฏว่า รฟม.สามารถคัดเลือกผู้รับเหมาที่ทำให้งานก่อสร้างสำเร็จสมบูรณ์ตามความต้องการของ รฟม. และได้เปิดใช้งานในปี 2562 ทั้งๆ ที่ผู้รับเหมาที่ชนะการประมูลไม่เคยมีประสบการณ์ในการขุดเจาะอุโมงค์ใต้เกาะรัตนโกสินทร์และใต้แม่น้ำเจ้าพระยามาก่อน จึงถือได้ว่าเกณฑ์ประมูลนี้เป็นเกณฑ์ที่ใช้ได้ผลดี

ทำไม รฟม.ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกล่าช้ากว่าแผน?

หลังจากเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายแล้ว ต่อมาในปี 2563 รฟม.เปิดประมูลหาผู้รับสัมปทานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งต้องขุดเจาะอุโมงค์ใต้เกาะรัตนโกสินทร์และใต้แม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งต้องให้บริการเดินรถตลอดเส้นทางทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก จากบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี

ตอนเริ่มประมูล รฟม.ใช้เกณฑ์ประมูลเหมือนกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย แต่ได้ปรับเพิ่มคะแนนการผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคจากเดิมไม่น้อยกว่า 70% เป็นไม่น้อยกว่า 85% เพราะคงต้องการที่จะได้ผู้รับสัมปทานหรือผู้รับเหมาที่มีความสามารถสูงขึ้น

แต่ก่อนถึงวันยื่นข้อเสนอ รฟม.ได้เปลี่ยนไปใช้ “เกณฑ์ใหม่” ซึ่งต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านผลตอบแทน (“ผลตอบแทน” ใช้สำหรับการหาผู้รับสัมปทาน ส่วน “ราคา” ใช้สำหรับการหาผู้รับเหมา) โดยให้คะแนนด้านเทคนิค 30% และคะแนนด้านผลตอบแทน 70% ใครได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะชนะการประมูล ทั้งนี้ รฟม.ให้เหตุผลว่าต้องขุดเจาะอุโมงค์ใต้เกาะรัตนโกสินทร์และใต้แม่น้ำเจ้าพระ จึงจำเป็นต้องได้ผู้ชนะการประมูลที่มีประสบการณ์และสมรรถนะสูง

ทั้งนี้เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการให้ความสำคัญต่อโบราณสถานในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ดังนั้น รฟม.จึงควรใช้เกณฑ์เดิมที่มีความเหมาะสมดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับเพิ่มคะแนนการผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคจากเดิมไม่น้อยกว่า 70% เป็นไม่น้อยกว่า 85% จะทำให้ รฟม.ได้ผู้ชนะการประมูลที่เก่งด้านเทคนิคมากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้เกณฑ์ใหม่ที่ลดทอนความสำคัญด้านเทคนิคลงมาเหลือเพียง 30% เท่านั้น ซึ่งย้อนแย้งกับเหตุผลของ รฟม.ที่อ้างว่าต้องการได้ผู้ชนะการประมูลที่มีประสบการณ์และสมรรถนะสูงถึงเวลานี้ การเปลี่ยนเกณฑ์ทำให้การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกล่าช้ากว่าแผนไปแล้วประมาณ 1 ปี

รฟม.ควรใช้เกณฑ์อะไรประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ จึงจะได้ผู้รับเหมาที่มีความสามารถสูง?

ขณะนี้ รฟม.กำลังประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ซึ่งต้องก่อสร้างอุโมงค์ใต้เกาะรัตนโกสินทร์และใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกัน แต่ รฟม.ใช้ “เกณฑ์ใหม่” ซึ่งต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอด้านราคา โดยอ้างเหตุผลทำนองเดียวกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก

จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่า รฟม.ควรใช้เกณฑ์เดิม เพราะจะทำให้ได้ผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์และสมรรถนะสูง แต่หากต้องการได้ผู้รับเหมาที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูงขึ้น ก็สามารถกำหนดคะแนนขั้นต่ำที่ผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคให้สูงขึ้นได้ ไม่จำเป็นจะต้องนำคะแนนด้านเทคนิคมารวมกับคะแนนด้านราคา ซึ่งไม่ใช่วิธีที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าจะได้ผู้รับเหมาที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูงตามที่ รฟม.ต้องการ

เหตุผลย้อนแย้ง? “สร้างรถไฟฟ้าพื้นที่เดียวกัน แต่ประมูลต่างกัน”

สรุปทั้งหมดนี้ ด้วยความปรารถนาดีต่อ รฟม. อยากให้ รฟม.ได้ตระหนักไว้ว่า หากโครงการล่าช้าจากการใช้เกณฑ์ใหม่จะทำให้ประเทศเสียหายอย่างใหญ่หลวง ดังที่ รฟม.ได้ประเมินความเสียหายกรณีเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกล่าช้า พบว่าประเทศจะเสียหายถึงปีละประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท อีกทั้ง การใช้เกณฑ์ใหม่อาจทำให้ รฟม.ต้องเสียค่าก่อสร้างมากกว่า หรือไม่ได้รับผลตอบแทนสูงสุด และที่สำคัญ อาจจะถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ให้ผู้ยื่นข้อเสนอรายใดรายหนึ่งหรือไม่?