สื่อมาเลเซียตีข่าวนายกฯถูกกดดันหนัก เตรียมลาออกจันทร์นี้

15 ส.ค. 2564 | 13:46 น.

"มูห์ยิดดิน ยัสซิน" นายกฯมาเลเซียถูกกดดันรอบด้านทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่เสียงสนับสนุนในสภาถดถอยหลังพรรคร่วมรัฐบาลแปรพักตร์ สื่อท้องถิ่นระบุ นายกฯเตรียมไขก๊อก ยื่นลาออกวันจันทร์นี้ (16 ส.ค.)

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงสื่อมาเลเซีย สำนักข่าว MalaysiaKini ที่เผยแพร่ข่าววันนี้ (15 ส.ค.) ระบุว่านายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เตรียมลาออกจากตำแหน่งในวันจันทร์ (16 ส.ค.) แม้ก่อนหน้านี้เขาเพิ่งประกาศเดินหน้าต่อสู้ในสภาหลังถูกบีบให้ลงจากตำแหน่ง

 

รายงานข่าวระบุว่า นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน ได้แจ้งให้สมาชิกพรรคทราบเรื่องการตัดสินใจลาออกแล้ว โดยเขาจะเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีรอบพิเศษในวันพรุ่งนี้ ก่อนที่จะยื่นลาออกต่อ กษัตริย์ อัล-สุลต่าน อับดุลลาห์ หลังประชุมเสร็จแล้ว

สื่อมาเลเซียตีข่าวนายกรัฐมนตรีถูกกดดันรอบด้าน เตรียมลาออก 16 ส.ค.นี้

ถ้าหากนายมูห์ยิดดินลาออกจริงตามรายงานข่าวดังกล่าว ซึ่งระบุว่าแหล่งข่าวคือนายโมฮัมหมัด เรดซูอัน ยูซบ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นั่นก็หมายความว่าจะเป็นอันสิ้นสุดการครองตำแหน่งซึ่งมีระยะเวลาสั้น ๆเพียง 17 เดือนเท่านั้น แต่ก็เป็น 17 เดือนที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เต็มไปด้วยความวุ่นวายทั้งทางการเมือง และความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

ยังไม่แน่ชัดว่า เมื่อนายมูห์ยิดดินก้าวลงจากอำนาจแล้ว ใครจะเป็นอัศวินม้าขาวที่ขึ้นมาฟอร์มทีมรัฐบาลชุดใหม่ เนื่องจากไม่มีเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในรัฐสภา และก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีการประกาศจัดการเลือกตั้งได้หรือไม่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่แผ่วเบาลงแต่อย่างใด ทั้งหมดนี้ สื่อระบุว่า ก้าวต่อไปของมาเลเซียจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับกษัตริย์อัล-สุลต่าน อับดุลลาห์ ซึ่งทรงมีพระราชอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญของมาเลเซีย

 

ทั้งนี้ รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า ได้ติดต่อเพื่อเช็คข่าวการลาออกดังกล่าวกับนายโมฮัมหมัด เรดซูอัน แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ และเมื่อติดต่อสอบถามไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ก็ไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด

 

นายยัสซินซึ่งก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในเดือนมี.ค.ปีที่แล้ว (2563) ได้ครองที่นั่งเสียงข้างมากในรัฐสภาแบบปริ่ม ๆ หรือเฉียดฉิวมาก โดยนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายยัสซินพยายามหลีกเลี่ยงการโหวตเสียงในรัฐสภาเพราะเกรงว่าพรรคฝ่ายค้านจะใช้สิทธิในการโหวตไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ยิ่งมาในระยะหลังเมื่อพรรคร่วมรัฐบาลเสียงแตก อำนาจในการบริหารของเขาก็ยิ่งสั่นคลอน

 

ตัวเขาเองเผชิญแรงกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งอย่างหนักหน่วงหลังจากกษัตริย์อัล-สุลต่าน อับดุลลาห์ ได้แสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลเพิกถอนกฎหมายว่าด้วยการใช้สถานการณ์ฉุกเฉินครั้งที่ผ่านมา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐสภาตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม นายมูห์ยิดดินเคยประกาศก่อนหน้านี้ไม่นานว่า เขาจะให้การโหวตของรัฐสภาในเดือนกันยายนนี้ เป็นเครื่องตัดสินอนาคตของเขา ว่าจะได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งต่อไปหรือไม่ จนกระทั่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (13 ส.ค.) ท่าทีของเขาเริ่มแปรเปลี่ยน โดยมูห์ยิดดินออกมายอมรับว่า เขาไม่ได้รับเสียงข้างมากสนับสนุนอีกแล้ว แต่ก็ยังหวังว่าจะขอความร่วมมือจากฝ่ายค้านได้ โดยการให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้มีการปฏิรูปทางการเมืองและกระบวนการเลือกตั้งเพื่อเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน แต่สุดท้ายแล้ว ข้อเสนอดังกล่าวก็ถูกฝ่ายค้านปฏิเสธ

 

สถานการณ์การเมืองในมาเลเซียเข้าสู่ภาวะตกต่ำนับตั้งแต่ที่นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเหนือความคาดหมายในเดือนก.พ.ปี 2563 ซึ่งเปิดทางให้นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลผสมซึ่งแต่ละพรรคมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกัน

 

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองถือเป็นการซ้ำเติมมาเลเซียที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากจากการแพร่ระบาดครั้งล่าสุดของไวรัสโควิด-19

 

ภายใต้รัฐธรรมนูญของมาเลเซียนั้น กษัตรทรงมีพระราชอำนาจที่จะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี(จากบรรดาผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าสภา) โดยทรงมีพระราชวินิจฉัยจากผู้ที่ทรงเห็นว่าสามารถบริหารประเทศโดยมีเสียงข้างมากสนับสนุน นอกจากนี้ กษัตริย์ยังสามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลขึ้นมาบริหารประเทศระหว่างที่รอนายกฯ จากการเลือกตั้งด้วย ซึ่งขณะนี้มีการคาดหมายเกี่ยวกับนายกฯเฉพาะกาล ว่าจะเป็นใครได้บ้าง ซึ่งชื่อที่มีการเผยแพร่ทางสื่อได้แก่ นายอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ รองนายกรัฐมนตรี และเต็งกู ราซาเล ฮัมซาห์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คร่ำหวอดมานานทั้งคู่เป็นสมาชิกพรรคอัมโน ที่เป็นพรรคเก่าแก่ที่ครองอำนาจมายาวนานตั้งแต่มาเลเซียประกาศเอกราช จนกระทั่งมาพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในปี 2561