8 คำถาม จัดซื้อ ชุดตรวจหาเชื้อ โควิด ATK:โกงหรือไม่ ใครพลาด ใครผิด

15 ส.ค. 2564 | 08:27 น.

ดร.มานะ นิมิตรมงคล องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)ตอบ 8คำถาม จัดซื้อ ATK:โกงหรือไม่ ใครพลาด ใครผิด หลัง มีกระแส จับตาในวงกว้าง

 

 การจัดซื้อชุดตรวจโควิด ATK 8.5 ล้านชุด ของ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กับชมรมแพทย์ชนบท กำลังเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง ว่าในที่สุดแล้ว ชุดตรวจที่เอกชนชนะประมูลในราคาถูกประหยัดงบประมาณรัฐจะ มีคุณภาพจริงหรือไม่

ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)  โฟสต์เฟซบุ๊กวันที่ 15 สิงหาคม 2564ที่ผ่านมาถึงการจัดซื้อชุดตรวจโควิด ATK 8.5 ล้านชุด  โดยตอบคำถามนักข่าว8ข้อดังนี้

1. ใช้วิธีเฉพาะเจาะจงได้ไหม..

ตอบ: ได้แน่นอนตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ และมติคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ร.บ. ฉุกเฉินฯ และระเบียบขององค์การเภสัชฯ เอง

2. ซื้อเฉพาะเจาะจงตามที่ สปสช. เสนอได้หรือไม่..

ตอบ: ทำได้ถ้ามีเหตุผลพิสูจน์ได้ว่าจำเป็น ทุกวันนี้วงการแพทย์และหน่วยงานรัฐก็ใช้วิธีนี้อยู่มากมายจึงไม่ใช่เรื่องแปลก โดยกำหนดสเปกให้แคบเข้าไว้ กรณีนี้คือเขียนลงไปว่า ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจาก WHO แต่จะระบุชื่อบริษัทหรือยี่ห้อสินค้าไปเลยทำไม่ได้

3. แล้วทำไมไม่กำหนดให้ซื้อสินค้าที่ WHO รับรอง..

ตอบ: หลักพื้นฐานคืออยู่ประเทศไทยก็ต้องเคารพกฎหมายไทย มาตรฐานหน่วยราชการไทยซึ่งกรณีนี้คือ สนง. อาหารและยา ผลงานที่ผ่านมาถือว่าเป็นที่ยอมรับว่าไม่แพ้ชาติใด แต่ผู้กำหนดนโยบายครั้งนี้คิดอะไรมากกว่านี้หรือไม่...ไม่ทราบ

4. ต้องซื้อแต่ของราคาถูกสุดเท่านั้นหรือ?

ตอบ: กฎหมายบอกว่า ซื้อของคุณภาพ ไม่ถูกสุดก็ได้ โดยดูวัตถุประสงค์ของผู้ใช้และข้อจำกัดในช่วงวิกฤตโควิดจะซื้ออะไรนอกจากคิดเรื่องความจำเป็นเร่งด่วน ของต้องมีและมีมากพอ ยังต้องคำนึงถึงความเชื่อมั่นยอมรับของประชาชนด้วย ดั่งกรณีเกิดกระแสข่าววัคซีนบางยี่ห้อด้อยคุณภาพจนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน เวลานี้จึงไม่จำเป็นต้องซื้อแต่ของราคาถูกเสียทุกอย่าง

การซื้อ ATK จึงอาจใช้ปัจจัยดังกล่าวเป็นตัวกำหนดว่า การซื้อล็อตแรกที่จำเป็นเร่งด่วนนี้ ให้เลือกซื้อสินค้าที่ WHO รับรองแล้วเพื่อให้ทุกคนมั่นใจ สบายใจ แล้วครั้งต่อไปค่อยกำหนดแนวทางที่เหมาะสมกันใหม่

5. ยกเลิกการประมูลได้ไหม..

ตอบ: ทำได้ แต่ต้องมีเหตุผลชัดเจนดีพอ ไม่อย่างนั้นอาจโดนเอกชนฟ้องร้อง เว้นแต่เอกชนจะยินยอม (ซึ่งยากมาก) และต้องเข้าใจว่าการประมูลของภาครัฐเป็นเรื่องสำคัญ ต้องตรงไปตรงมาเพื่อรักษาความเชื่อมั่นต่อระบบและกฎหมายในระยะยาวด้วย

6. ทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อใจในสินค้าที่ชนะการประมูล..

ตอบ: ทำการสุ่มทดสอบสินค้าให้มาก เชิญสถาบันวิชาการของรัฐและเอกชนมาร่วมด้วยยิ่งดี, หารายงานวิชาการระดับโลกหลายแหล่งมายืนยัน, กำหนดเงื่อนไขการันตีไว้ในสัญญาซื้อขายเลยว่า หากผลทดสอบหรือเริ่มใช้งานจริงไม่ได้ผลตามเกณฑ์ที่กำหนดก็ตีคืน ยกเลิกสัญญา ริบเงินค้ำประกัน เรียกค่าปรับ ขึ้นแบล็คลิสท์ ฯลฯ

7. ใครต้องรับผิดชอบหากผิดพลาดเสียหาย..

ตอบ: จะจับมือใครดมได้หรือ ถึงเวลาก็อ้างว่าทำถูกกฎหมายเป็นไปตามขั้นตอนแล้ว ครั้นจะให้ขอโทษประชาชน แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหาย ยอมรับว่าตัดสินใจบกพร่อง ด้อยประสิทธิภาพในฐานะผู้บริหารหรือแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง เรื่องแบบนี้เป็นไปได้ยากในสังคมการเมืองและราชการไทย

8. การจัดซื้อครั้งนี้มีคอร์รัปชันหรือไม่?

ตอบ: ยังไม่ปรากฏข้อมูลชัดเจน แต่มีข้อสังเกตว่า

ก. การเขียนทีโออาร์ จะเลือกแนวทางเปิด “ประมูลทั่วไป” เพื่อให้คนแข่งขันเยอะๆ ให้ได้ของราคาถูกหรือจะใช้วิธี “เฉพาะเจาะจง” เพื่อให้ได้ของดีถูกใจ วิธีไหนสมควรต้องดูเป็นกรณีไป แต่บ่อยครั้งเกิดปัญหาเพราะเบื้องหลังมีการล็อคสเปกหรือสมรู้ร่วมคิดกันแอบแฝงอยู่ ระบบเต็มไปด้วยกติกาให้ใช้ดุลยพินิจ ขาดความโปร่งใส ผู้ใหญ่บางคนจ้องใช้อิทธิพลหาประโยชน์

ข. บางครั้งเมื่อ “ผู้ใหญ่” จงใจทักท้วงว่า “คุณรับผิดชอบได้หรือหากเกิดปัญหา” จึงเป็นการง่าย และปลอดภัยกว่าที่คนทำงานจะเปลี่ยนแนวทางไป

ค. ชุดตรวจ ATK แจกจ่ายกระจัดกระจาย ใช้แล้วโยนทิ้งไป ต่างจากเรือเหาะและเครื่องตรวจระเบิด GT200 ที่ทิ้งหลักฐานคอร์รัปชันและความล้มเหลวให้พิสูจน์ย้อนหลังได้ตลอดเวลา

น่าเสียดายที่การจัดซื้อครั้งนี้ไม่ได้ใช้ “ข้อตกลงคุณธรรม” ทำให้พลาดโอกาสแสดงความโปร่งใส แล้วยังพลาดโอกาสที่ตัวแทนภาคประชาชนผู้ชำนาญธุรกิจยาจะเข้าไปเสนอแนะข้อมูลและแชร์ประสบการณ์ดีๆ

คนไทยยังต้องต่อสู้กับโควิดอีกนาน ตั้งหลักให้ดี ร่วมมือกันไว้ อย่ายอมให้ใครโกงครับ