แผ่นดินไหวขนาด 7.2 เขย่า “เฮติ” ราบ พบผู้เสียชีวิตแล้ว 29 ราย

14 ส.ค. 2564 | 20:10 น.

เฮติเผชิญแผ่นดินไหวความรุนแรง 7.2 ตามมาตราริกเตอร์เมื่อวันเสาร์ (14 ส.ค.ตามเวลาท้องถิ่น) โดยจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวห่างจากเมืองหลวงปอร์โตแปรงซ์ ไปทางทิศตะวันตกราว 125 กม. สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง พบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 29 คน

นายเอเรียล เฮนรี นายกรัฐมนตรีเฮติ ประกาศว่าเขากำลังระดมทุกสรรพกำลังของภาครัฐเข้าช่วยเหลือ ผู้ที่ประสบภัยแผ่นดินไหว นอกจากนี้ ยังได้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งประเทศเป็นเวลา 1 เดือน แต่ยังไม่ขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศจนกว่าจะประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นจนได้ภาพที่ชัดเจนแล้ว

 

ในทวิตเตอร์ที่โพสต์เมื่อวานนี้ (14 ส.ค.) นายกฯเฮติระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้มีความรุนแรงและได้ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ในหลายพื้นที่ของประเทศ เขาขอให้ประชาชนชาวเฮติ รวมใจเป็นหนึ่งเดียวเพื่อฝ่าฟันสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน

แผ่นดินไหวขนาด 7.2 เขย่า “เฮติ” ราบ พบผู้เสียชีวิตแล้ว 29 ราย

ประชาชนในเมืองหลวงปอร์โตแปรงซ์ให้สัมภาษณ์สื่อว่าพวกเขาสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน จึงพากันหนีออกจากอาคารบ้านเรือนสู่ท้องถนน หลายคนกล่าวว่าตกใจตื่นขึ้นเพราะแรงสั่นสะเทือน และจากนั้นสิ่งเดียวที่ทำได้คือพาตัวเองออกมาจากอาคารให้เร็วที่สุด หลายคนวิ่งออกสู่ท้องถนนโดยไม่ได้สวมรองเท้าด้วยซ้ำ

 

 

เฮติยังจัดอยู่ในกลุ่มประเทศยากจน สภาพความเป็นอยู่ของประชาชน บ้านเรือนที่ไม่แข็งแรง เป็นเหตุให้เปราะบางและสุ่มเสี่ยงจะได้รับความเสียหายได้มากหากเกิดภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวหรือพายุเฮอริเคน  

ในปี 2561 เคยเกิดแผ่นดินไหวความรุนแรง 5.3 ริกเตอร์ที่เฮติ ซึ่งครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตสิบกว่าคน แต่ก่อนหน้านั้นในปี 2553 ถือได้ว่าเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงระดับมหาวิปโยค เพราะมีผู้เสียชีวิตทั้งประเทศราว 3 แสนคน และเมืองหลวงก็ได้รับความเสียหายอย่างหนักมากจากแผ่นดินไหวขนาด 7.1 แมกนิจูด

แผ่นดินไหวขนาด 7.2 เขย่า “เฮติ” ราบ พบผู้เสียชีวิตแล้ว 29 ราย

ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติ (National Hurricane Center) ของเฮติพยากรณ์ว่า พายุโซนร้อน “เกรซ” จะพัดขึ้นฝั่งเฮติในช่วงคืนวันจันทร์นี้ หรือไม่ก็เช้าวันอังคาร (17 ส.ค.)

 

สื่อต่างประเทศรายงานว่า เหตุภัยพิบัติครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นเพียง 1 เดือนกว่าหลังเกิดเหตุกลุ่มติดอาวุธบุกสังหารประธานาธิบดีเฮติคาบ้านพัก ซึ่งส่งผลให้ทั้งประเทศต้องตกอยู่ภายใต้ความวุ่นวายทางการเมืองและการแก่งแย่งอำนาจ ดังนั้น ภัยธรรมชาติครั้งนี้จึงเป็นเหตุการณ์ที่ซ้ำเติมทำให้ประชาชนชาวเฮติต้องใช้ชีวิตยากลำบากยิ่งขึ้น