‘ค้าปลีก’ อ่วม! ไตรมาส 4 ทรุดหนัก ลุ้นฟื้นได้กลางปี 66

14 ส.ค. 2564 | 21:58 น.

ค้าปลีกอ่วม! โควิดฉุดสัญญาณชีพร่วง คาดลดลงต่อถึงไตรมาส 4 หลังผู้ประกอบการทั้งในและนอกพื้นที่สีแดงเข้มยอดขายหายระนาว เผยเป็นครั้งแรกที่ทรุดทั้งพฤติกรรมการจับจ่ายและความถี่ ส่งสัญญาณอันตราย คาดกลับมาฟื้นตัวในภาวะปกติครึ่งหลังปี 66

การจับมือกันสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index :RSI) ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ของปี 2564 โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ค้าปลีกที่ลดลงมาอยู่ในระดับ 16.4

 

จากค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 ลดลงลึกสุดในรอบ 16 เดือนและต่ำกว่าเดือนเมษายน 2563 ที่อยู่ในระดับ 24.3 ส่งผลสะท้อนถึงความวิตกกังวลในอัตราที่สูง ไม่เพียงเท่านั้นยังส่งผลกระทบต่อแนวโน้มค้าปลีกในไตรมาส 4 ที่จะถึงด้วย

 

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกในเดือนกรกฎาคมน่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ารุนแรงกว่าระลอกแรกเมื่อปีก่อน

 

นอกจากนี้มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวในเดือนสิงหาคมที่ปัจจุบันได้ขยายจังหวัดคุมเข้มสูงสุดเป็น 29 จังหวัด คาดว่าจะทำให้ภาคค้าปลีกต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวสู่ระดับปกติได้ คือในกลางปี 2566

‘ค้าปลีก’ อ่วม! ไตรมาส 4 ทรุดหนัก ลุ้นฟื้นได้กลางปี 66

สิ่งที่น่าวิตกอย่างมากคือ เป็นครั้งแรกที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคต่อครั้ง (Spending Per Bill) หรือ Per Basket Size และความถี่ในการจับจ่าย (Frequency on Shopping) ลดลงทั้งสองอย่าง จากปกติหากการใช้จ่ายลดลง ความถี่จะสูง หรือหากความถี่ลดลง การใช้จ่ายต่อครั้งจะสูง ผกผันกัน

 

แต่การลดลงทั้งสองพฤติกรรมในเวลาเดียวกัน ย่อมส่งสัญญาณที่ไม่ดี สะท้อนให้เห็นว่า การฟื้นตัวของภาคค้าปลีกจะเป็นไปได้ยาก และส่งผลกระทบสูงในครึ่งปีหลัง

 

ขณะที่การประเมินความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีกโดยรวมในอีก 3 เดือนข้างหน้าหรือไตรมาส 4 จะพบว่า ยังต่ำอยู่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังวิตกกังวลถึงความไม่ชัดเจนของแนวทางการกระจายและฉีดวัคซีนของภาครัฐ

 

รวมถึงมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่ภาครัฐจะอัดฉีดเพิ่ม ส่วนการแพร่ระบาดที่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลและภาคกลาง ส่งผลต่อยอดขายสาขาเดิม ซึ่งเชื่อว่าหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อ จะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคยิ่งอ่อนแอ และส่งผลต่อการฟื้นตัวในระยะยาว

‘ค้าปลีก’ อ่วม! ไตรมาส 4 ทรุดหนัก ลุ้นฟื้นได้กลางปี 66

ทั้งนี้มาตรการล็อกดาวน์ส่งผลกระทบอย่างมากต่อร้านค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้าและร้านอาหาร ทำให้ยอดขายลดลงกว่า 70% ในเดือนกรกฎาคม และเชื่อว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะยังต่ำอยู่หากการแพร่ระบาดต่อเนื่องเกิน 1-2 เดือนนี้

 

โดยเฉพาะการจับจ่ายในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าที่เปิดให้บริการในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่เป็นพื้นที่สีแดงเข้มพบว่า หายไปกว่า 70% ขณะที่ห้างสรรพสินค้าในต่างจังหวัดที่อยู่นอกพื้นที่สีแดงเข้ม ก็หายไปราว 40% เชื่อว่าเกิดจากความเชื่อมั่นที่ลดลง

‘ค้าปลีก’ อ่วม! ไตรมาส 4 ทรุดหนัก ลุ้นฟื้นได้กลางปี 66
 

ส่วนร้านค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต พบว่า การจับจ่ายครั้งนี้แตกต่างจากการประกาศล็อกดาวน์ในครั้งแรก ที่มีการสต็อกสินค้าจำนวนมาก โดยพบว่าการสต็อกสินค้าหายไปอย่างมีนัย ทำให้ยอดการใช้จ่ายต่อครั้งลดลง ยอดขายจึงลดลงไปกว่า 30%

 

ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ลดลง ในไตรมาส 4 รวมถึงหวั่นว่าจะส่งผลกระทบถึงการจ้างงานของผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อมที่เป็น Big Spender ของกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต

 

อย่างไรก็ดี การที่มาตรการรัฐยังผ่อนปรนให้ร้านค้าปลีกประเภทซูเปอร์มาร์เก็ต เปิดดำเนินการได้ จึงส่งผลกระทบเล็กน้อย เพราะผู้บริโภคยังมีการออกมาจับจ่ายแม้จะลดลงเหลือ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ทำให้แนวโน้มในไตรมาส 4 หากมีการควบคุมการระบาดได้จะมีทิศทางที่ดีขึ้น

 

สวนทางกับกลุ่มร้านค้าปลีกประเภทสะดวกซื้อ ที่แม้มาตรการรัฐจะผ่อนปรนให้เปิดบริการได้ แต่ก็มีการควบคุมเรื่องของกำหนดการเปิด-ปิด ในช่วงเวลา 21.00- 04.00 น. ซึ่งส่งผลต่อชั่วโมงการขายลดลง ซึ่งเป็นช่วง Peak Hour ทำให้ร้านสะดวกซื้อที่ตั้งอยู่ใน 29 จังหวัด

‘ค้าปลีก’ อ่วม! ไตรมาส 4 ทรุดหนัก ลุ้นฟื้นได้กลางปี 66

ซึ่งมีจำนวนสาขารวมกว่า 40% ของสาขาทั้งหมด ยอดขายหายไปราว 20-25% อย่างไรก็ดีแนวโน้มในไตรมาส 4 คาดว่าจะยังทรงตัว โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยบวกจากมาตรการภาครัฐว่าจะมีมาตรการอะไรออกมากระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

 

ร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง ตกแต่งและซ่อมบำรุง ที่พบว่าความเชื่อมั่นลดลงไปกว่าครึ่ง เหตุจากการล็อกดาวน์ คลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง การหยุดการก่อสร้าง โรงงานถูกปิดกิจการ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ที่ประเมินว่าสถานการณ์อาจจะยืดเยื้อ

 

ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่ม และภัตตาคาร ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม แม้จะมีการผ่อนปรนให้ซื้อผ่านฟู้ด ดีลิเวอรีได้ แต่การปิดร้านอาหารในศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ รวมถึงนโยบายที่ไม่ชัดเจน ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเนื่องจากปัจจุบันจนถึงไตรมาส 4 อย่างแน่นอน

 

สรุปแล้วจะเห็นว่า ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีก จากจำนวนผู้มาใช้บริการ (Traffic) ที่ลดลงในทุกประเภทของร้านค้าปลีกแล้ว ยอดจับจ่ายที่ลดลง จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและผู้ประกอบการ 90% มองว่าภาคค้าปลีกจะกลับมาฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ จะเห็นได้ในครึ่งปีหลังของปี 2566

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,705 วันที่ 15 - 18 สิงหาคม พ.ศ. 2564