วัคซีนโควิด-19 สะท้อนความเหลื่อมล้ำในไทย

10 ส.ค. 2564 | 09:50 น.

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สะท้อนความเหลื่อมล้ำของสังคมให้เด่นชัด โดยเฉพาะเรื่องการกระจาย “วัคซีนโควิด-19” บางจังหวัดได้รับวัคซีนแซงหน้าจังหวัดอื่นแม้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้มและควบคุมสูง

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของไทยในรอบนี้ กลับฉายภาพความเหลื่อมล้ำของสังคมให้เด่นชัดขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเรื่องการกระจาย “วัคซีนโควิด”

ข้อเท็จจริงที่ปรากฎขึ้นและเป็นเรื่องดราม่าไม่เว้นแต่ละวันก็คือ “การบริหารจัดการวัคซีนโควิด” ของรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ไม่เพียงพอ ล้าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์โควิดโดยเฉพาะในสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่าง "โควิดสายพันธุ์เดลตา"

“การกระจายวัคซีน”เป็นเรื่องที่ประเทศไทยมีการวางเป้าหมายและยุทธศาสตร์เอาไว้อย่างชัดเจน แต่ในทางปฎิบัติกลับสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ไม่ตรงตามเป้า ไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง

ก่อนหน้านี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ “ประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2 : การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน”

โดยชี้ให้เห็นว่าการจัดหาวัคซีน มีปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมั่นที่สูงเกินไปว่าจะควบคุมการระบาดให้อยู่ในระดับต่ำได้ตลอด ทำให้จัดหาวัคซีนล่าช้าและในปริมาณที่น้อยเกินไป  มีแนวทางจัดหาวัคซีนตามแนวคิดสาธารณสุขเป็นหลัก ในลักษณะตั้งเป้าฉีดวัคซีนน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น สวนทางกับต้นทุนในการจัดหาวัคซีนโดยรวมอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเทียบกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

ทั้งยังพึ่งพาเฉพาะ “แอสตร้าเซนเนก้า” ที่ผลิตในประเทศมีสัดส่วนที่สูงมาก แต่สุดท้ายก็ได้รับมอบเพียงแต่ 5 ล้านโดสต่อเดือน และการเลือกวัคซีน “ซิโนแวค” เป็นวัคซีนเสริม ไม่หาทางเลือกอื่นตั้งแต่ต้นและมีประสิทธิภาพสู้รบกับสายพันธุ์เดลตาไม่ได้แต่ยังสางซื่อตาอเนื่อง และยังไม่เข้าร่วมในโครงการ Covax  การทำงานไม่สอดประสานและเกิดการแย่งซีนระหว่างหน่วยงานในการลงทะเบียนฉีดวัคซีนสร้างปัญหาและความยุ่งยากให้แก่ประชาชน

การบริหารจัดการวัคซีนดังกล่าว ทำให้การจัดลำดับความสำคัญการได้รับวัคซีนของหน่วยงาน องค์กร จังหวัดต่างๆ เกิดข้อกังขาจากสังคมถึงความไม่โปร่งใส เกิดความเหลื่อมล้ำ และมีผลประโยชน์ที่ทับซ้อนของภาครัฐ

บางจังหวัดได้รับวัคซีนแซงหน้าจังหวัดอื่นแม้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้มและควบคุมสูง ไม่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลักก็ตาม เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ มีการฉีดวัคซีนมากเป็นลำดับที่ 11 ของประเทศ ณ วันที่ 7 ก.ค. โดยมีการฉีดวัคซีนทั้งหมดประมาณ 3 แสนเข็ม หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากร

กรณีกระแสวิพากวิจารณ์สถานีตำรวจภูธรบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์  ได้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ในขณะที่ประชาชนบางคนแม้แต่เข็มแรกยังไม่ได้ฉีดด้วยซ้ำ

ภายหลังมีการชี้แจงว่าได้รับการอนุเคราะห์จาก สสจ. เนื่องจาก สสจ.บุรีรัมย์ เป็นหน่วยงานประสานรับมาจากกระทรวงสาธารณสุข ก่อนปันส่วนมาให้เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ด่านหน้ารับผู้ป่วยโควิดจากกรุงเทพฯ กลับมารักษาในภูมิลำเนา

ล่าสุดก็มีกระแสข่าวทางโซเชียลบอกว่าจังหวัดบุรีรัมย์ได้รับจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) มาก่อนที่กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรให้ และได้รับสรรจำนวนวัคซีนเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ แม้ภายหลังถูกระบุว่าเป็นข่าวปลอม (Fake News) และมีการเปิดเผยข้อมูลจริงจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรด่านหน้าทั้งหมด 13 จังหวัด โดยจังหวัดบุรีรัมย์อยู่ในลำดับที่ 11 ได้รับ 6,960 โดส ก็ตาม

วัคซีนโควิด-19 สะท้อนความเหลื่อมล้ำในไทย

แต่สังคมก็ยังมีคำถามมากมายเพราะจังหวัดบุรีรัมย์คือที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์ ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข รวมถึงเป็นบ้านเกิดของนายเนวิน ชิดชอบ ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตการได้รับจัดสรรวัคซีนเป็นอันดับต้นๆ อยู่ในระดับที่สูงเทียบเท่าจังหวัดท่องเที่ยว และสูงกว่าพื้นที่อื่นๆของประเทศ

ไม่เพียงเท่านี้ยังพบว่ามีกระแสข่าวออกมาอยู่เสมอเรื่องการลัดคิวฉีดวัคซีนจาก VIP หลายราย ใช้เงินบริจาค หรือสายสัมพันธ์กับผู้จัดให้มีการฉีดวัคซีน ทำให้ผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงจำนวนมากยังไม่ได้รับวัคซีน

 การแพร่ระบาดระลอกแรกดูเหมือนรัฐบาลจะบริหารจัดการได้ดี แต่มาถึงตอนนี้เรื่องการจัดสรรวัคซีนที่ผิดพลาดถูกกระแสโจมตีว่าน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อหลักสองหมื่นคนต่อวัน การเสียชีวิตของประชาชนกลุ่มเสี่ยงจากโควิด 100-200 คน

หากยังปล่อยแบบนี้ความเสียหายและความสูญเสียจะยิ่งมีสูงขึ้น ประเทศกลับเข้าสู่วิกฤติด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจ

เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องกลับไปทบทวนแล้วว่าจะกระจายวัคซีนโควิดอย่างไรให้ตรงเป้าและที่สำคัญจะต้องไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม……