วัคซีนไฟเซอร์ ข่าวดี 3 กลุ่มเสี่ยง 13 จังหวัดสีแดงเข้ม ลุ้นฉีดสัปดาห์นี้

08 ส.ค. 2564 | 23:00 น.

วัคซีน"ไฟเซอร์" กรมควบคุมโรค เตรียมกระจายฉีด 3 กลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ ใน 13 จังหวัด พื้นที่สีแดงเข้มกว่า 6.4 แสนโดส พร้อมจัดสรรให้ชาวต่างชาติกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนไทยเดินทางไปต่างประเทศอีก 1.5 แสนโดส

วัคซีน"ไฟเซอร์" ความคืบหน้าหลังจากสหรัฐฯ ได้บริจาควัคซีนไฟเซอร์ให้กับประเทศไทยจำนวน 1,503,450 โด้ส พร้อมระบุว่าจะบริจาคเพิ่มเติมอีก 1 ล้านโดส เพื่อแสดงถึงความสำคัญที่สหรัฐฯกับไทย ในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 เพื่อช่วยยุติโรคระบาดใหญ่ในทั่วโลก 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2564 นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยระหว่างการแถลงการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐให้กับไทยจำนวน 1.5 ล้านโด้สว่า ขณะนี้ได้มีการจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ 7 แสนโดส โดยเริ่มทยอยจัดส่งวัคซีนตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ไปยังโรงพยาบาลใหญ่ครบ 170 แห่งทั้ง 77 จังหวัดภายใน 3 วัน เริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2564 ขณะนี้ฉีดแล้ว 5.7 หมื่นโดส จากการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ พบอาการปวด บวม ร้อน และไข้เล็กน้อย ไม่มีอาการรุนแรง

ขณะเดียวกันยังมีแผนทยอยส่งวัคซีนวัคซีนไฟเซอร์ ไปยังโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคมนี้ เพื่อให้บริการฉีดสำหรับ 3 กลุ่มเสี่ยง ในพื้นที่ 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม จำนวน 645,000 โดส ดังนี้

  • กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้น 
  • กลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังอายุ 12 ปีขึ้นไป 
  • กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

นอกจากนี้ยังจะกระจายซีนวัคซีนไฟเซอร์ให้ชาวต่างชาติกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนไทยเดินทางไปต่างประเทศ 1.5 แสนโดส 

แผนการกระจาย-ฉีดวัคซันไฟเซอร์ 

  • ทยอยส่งวัคซีนไปยังโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคมนี้ 
  • เริ่มจัดบริการฉีดวัคซีนได้กลางสัปดาห์ 
  • ฉีดในคนที่ยังไม่เคยได้วัคซีนโควิดตัวอื่นมาก่อน
  • มีการติดตามอาการหลังฉีด 30 นาที 1 วัน 7 วัน และ 30 วัน 
  • กลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีโรคเรื้อรังแพทย์ที่รักษาจะประเมินว่าพร้อมรับวัคซีนหรือไม่ และจะติดตามอาการหลังฉีด โดยรายงานผ่านระบบหมอพร้อม ซึ่งเด็กวัยนี้ใช้แอปพลิเคชันได้ หรือให้ผู้ปกครองช่วยรายงาน หลังฉีดวัคซีนหากมีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่นหายใจไม่สะดวก สงสัยอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ให้รีบมาโรงพยาบาล เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคนี้รักษาให้หายได้ 

13 จังหวัด พื้นที่สีแดงเข้ม

  1. กรุงเทพฯ
  2. นนทบุรี
  3. นครปฐม
  4. ปทุมธานี
  5. สมุทรปราการ
  6. สมุทรสาคร
  7. นราธิวาส
  8. ปัตตานี
  9. ยะลา
  10. สงขลา
  11. ฉะเชิงเทรา
  12. ชลบุรี  
  13. พระนครศรีอยุธยา