พบเด็กไทยติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 33,226 ราย เสียชีวิต 9 ราย

08 ส.ค. 2564 | 06:22 น.

หมอเฉลิมชัยเผยพบเด็กไทยติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 33,226 ราย เสียชีวิต 9 ราย ระบุในจำนวนนี้มีโรคประจำตัวมากถึง 8 ราย

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า    
น่ากังวล !! เด็กไทยติดโควิดไปแล้วรวม 33,226 ราย เสียชีวิตรวม 9 ราย ในจำนวนนี้มีโรคประจำตัวมากถึง 8 ราย
โควิด-19  ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาลำดับที่เจ็ด มีรายงานการระบาดต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ว่า
มีความรุนแรงของโรค และทำให้เสียชีวิตสูงในผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และมีการติดเชื้อหรือมีอาการที่รุนแรงน้อยในเด็ก โดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 15 ปี จากการวิจัยพัฒนาวัคซีน ที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมา เกือบทุกบริษัททุกเทคโนโลยี ล้วนแล้วแต่เน้นการทดลองวัคซีนในผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป มีเฉพาะ Pfizer บริษัทเดียวที่ทดลองในอายุ 16 ปีขึ้นไป และขณะนี้ทั่วโลกกำลังเร่งทดลอง และเริ่มมีการประกาศใช้ในบางประเทศเป็นการฉุกเฉินแล้วสำหรับอายุ 12 ปีขึ้นไป
ด้วยเหตุผลสองประการคือ
1.การวิจัยทดลองในเด็กทำได้ยาก ส่วนใหญ่พ่อแม่ผู้ปกครองมักไม่ยินยอมหรืออนุญาต ด้วยความรักความเป็นห่วง
2.โควิด-19 นั้น เด็กมักจะติดเชื้อแล้วไม่ค่อยมีอาการ หรือมีอาการน้อย
ความรู้เบื้องต้นดังกล่าว กำลังมีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะจากการเก็บข้อมูลทั่วโลก เริ่มแสดงให้เห็นว่าเด็กก็เริ่มติดเชื้อมีจำนวนมากขึ้น และเริ่มมีการเสียชีวิตด้วยเช่นกัน เฉพาะในประเทศไทย พบว่าผู้ใหญ่จะติดเชื้อแบบแสดงอาการ 20% หรือหนึ่งในห้า และไม่แสดงอาการ 80% หรือสี่ในห้า จากการเก็บข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ข้อมูลว่า สัดส่วนของเด็กที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ กับมีอาการนั้น ใกล้เคียงกับในผู้ใหญ่คือ

ลักษณะทางระบาดวิทยา
พบไม่มีอาการ 71% (23,619 ราย)
และมีอาการ 29% (9607 ราย)
จากจำนวนผู้ติดเชื้อเด็กทั้งสิ้น 33,226 ราย

โดยในกลุ่มที่มีอาการนั้น จะมีอาการเด่นได้แก่ 
ไอ        21.82% 
ไข้        16.79% 
น้ำมูก  13.38% 
เจ็บคอ 11.45% 
ปวดหัว 5.15% 
เสมหะ  4.64%
ส่วนอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รับรสมีเพียง 1.79%  และอาการอ่อนเพลียพบน้อยมากเพียง 0.22%
จะเห็นได้ว่าอาการเด่นของเด็กนั้นคือ ลักษณะของการเป็นไข้หวัดธรรมดา จึงทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง แยกอาการของลูกหลานจากการเป็นไข้หวัดธรรมดาได้ยาก
เพราะโควิด-19 ของเด็กนั้น ไม่ค่อยมีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รวมทั้งอาการไม่ได้กลิ่นและการไม่ได้รับรสของเด็กก็พบน้อยด้วยเช่นกัน
จึงมักทำให้เด็กได้รับการวินิจฉัยช้า

ลักาณะทางระบาดวิทยาของผู้ติดเชื้อโควิดต่ำกว่า 15 ปีที่เสียชีวิต
จนถึงขณะนี้มีเด็กเสียชีวิตแล้ว 9 ราย โดย 8 ใน 9 รายนั้น มีโรคประจำตัวทั้งสิ้น ประกอบด้วย
พิการทางสมอง 3 ราย
มะเร็ง 2 ราย
โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคลมชักอย่างละ 1 ราย
โดยเด็กที่อายุน้อยที่สุดที่เสียชีวิต มีอายุเพียงหนึ่งเดือน และอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 13 ปี
จึงเป็นเหตุผลที่ทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งรัฐบาลไทย เร่งจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีโดยเร็ว
ซึ่งขณะนี้ก็มีข่าวดีว่า วัคซีน Sinovac และ Sinopharm อนุญาตให้ฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศจีนได้ ตั้งแต่อายุสามขวบเป็นต้นไป (รวม UAE - Sinopharm) ส่วนวัคซีนของ Pfizer ฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป
คงจะต้องติดตามข้อมูลต่างๆของวัคซีนทุกชนิดที่กำลังทดลองฉีดในเด็ก เพื่อนำมากำหนดฉีดให้กับเด็กไทย โดยเฉพาะที่มีโรคประจำตัว เพราะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อและเสียชีวิตได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหลานของเราต้องติดเชื้อ และสามารถไปโรงเรียนได้
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) วันที่ 8 สิงหาคม 64 จากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า 
ติดเชื้อเพิ่ม 19,983 ราย 
ติดในระบบ 16,780 ราย
ติดจากตรวจเชิงรุก 2847 ราย

ติดในสถานกักตัว 6 ราย
ติดในเรือนจำ 350 ราย
สะสมระลอกที่สาม 727,642 ราย
สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 
สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19

สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19
สะสมทั้งหมด 756,505 ราย
รักษาตัวอยู่ 214,786 ราย
โรงพยาบาลหลัก 73,966 ราย
โรงพยาบาลสนาม 140,820 ราย
อาการหนัก 5157 ราย
ใช้เครื่องช่วยหายใจ 1070 ราย
ติดเชื้อเข้าข่าย/ATK 2577 ราย
สะสม 20,413 ราย
รักษาหาย 18,503 ราย
สะสม 508,089 ราย
เสียชีวิต 138 ราย
สะสมระลอกที่สาม 6110 ราย
สะสมทั้งหมด 6204 ราย
ฉีดวัคซีนสะสม 20.533 ล้านเข็ม
เข็มที่หนึ่ง 15.862 ล้านเข็ม
เข็มที่สอง 4.671 ล้านเข็ม