วัคซีนไฟเซอร์ 1.54 ล้านโดส กระจายอย่างไร ใครได้ฉีดบ้าง

30 ก.ค. 2564 | 12:23 น.

เปิดแผนกระจายวัคซีนไฟเซอร์ 1.54 ล้านโดส กลุ่มเป้าหมายใดบ้างที่จะได้รับการจัดสรรให้ฉีดวัคซีนแบบ mRNA พร้อมเช็คประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของวัคซีน มีอะไรบ้าง ตรวจสอบได้ที่นี่

หลังจากในช่วงเช้าที่ผ่านมาของวันนี้ (30 ก.ค.64) วัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 1.54 ล้านโดส  ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มอบให้กับไทย ได้มีการขนส่งมาถึงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นก็จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการต่างๆก่อนจะกระจายไปตามแผนที่ได้วางไว้ ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีก็ได้ย้ำชัดว่า วัคซีนไฟเซอร์นั้นจะเน้นฉีดให้กับบุคลากรการแพทย์ด่านหน้าและกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น และจะต้องไม่มีกรณีจัดสรรไปยังบุคคลสำคัญ หรือนอกกลุ่มที่กำหนดไว้เป็นอันขาด


สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 1.54 ล้านโดสนั้น ก็แบ่งได้ดังนี้ 

 

  1. บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติภารกิจดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ (เข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน)  700,000 โดส 
  2. ผู้มีภาวะเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีสัญชาติไทย  645,000 โดส
  3. ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุ และโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้เดินทางไปต่างประเทศ ที่จำเป็นต้องรับวัคซีนไฟเซอร์ เช่น นักการทูต นักศึกษา 150,000 โดส
  4. ทำการศึกษาวิจัย (ได้รับการอนุมัติโดยคณะกรรมการวิจัยจริยธรรม) จำนวน 5,000 โดส 
  5. สำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ จำนวน 40,000 โดส

วัคซีนไฟเซอร์ 1.54 ล้านโดส กระจายอย่างไร ใครได้ฉีดบ้าง

นอกจากนั้นแล้ว ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ยังจะบริจาควัคซีนไฟเซอร์ให้คนไทยเพิ่มอีก 1 ล้านโดส รวมทั้งหมดเป็น 2.5 ล้านโดส 

สำหรับวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทค ซึ่ง Pfizer Inc. บริษัทยาของสหรัฐฯ และ BioNTech SE บริษัทไบโอเทคโนโลยีของเยอรมนี ร่วมกันพัฒนาขึ้น วัคซีนโควิดของไฟเซอร์มีชื่อทางการว่า BNT162b2 เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19  ชนิดสารพันธุกรรม (mRNA vaccines) และเป็นวัคซีนตัวแรกที่ได้รับอนุญาตทะเบียนแบบฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลก และข้อมูลขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ได้ร้อยละ 95


ขณะที่อาการข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนโควิดไฟเซอร์ รายงานจากต่างประเทศเผยว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงประมาณ 4.7 คน และในสหรัฐอเมริกา ยังไม่พบผู้ที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ส่วนอาการที่พบเห็นได้ มีดังนี้ 

 

  • อาการปวด บวม แดง คัน หรือช้ำ ตรงจุดที่ฉีดยา
  • รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบายตัว ปวดหัวเล็กน้อย
  • มีอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและตามข้อ
  • มีอาการคลื่นไส้
     

นอกจากนั้นแล้วยังมีรายงานกรณีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประเภท mRNA พบว่า เข็มที่ 2 มีแนวโน้มอาการข้างเคียงรุนแรงมากกว่าเข็มแรก ซึ่งอาจจะแตกต่างจากวัคซีนประเภท viral vector (แอสตร้าเซนเนก้า) ที่เข็ม 2 มักจะมีแนวโน้มรุนแรงน้อยกว่าเข็มแรก

รู้จักวัคซีนไฟเซอร์