อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด “ทรงตัว”ที่ระดับ 32.87บาท/ดอลลาร์

30 ก.ค. 2564 | 00:39 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแรงกดดัน “อ่อนค่า” เหตุการระบาดของ COVID-19 ในไทยยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น -การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์อาจทำให้ เงินบาทไม่อ่อนค่าทะลุ 33 บาทต่อดอลลาร์เร็ว

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.87 บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้ามองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.80-32.95 บาท/ดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 แม้ว่าเงินดอลลาร์นั้นจะอ่อนค่าลงก็ตาม ดังนั้นเราจึงยังมองไม่เห็นโอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับเทรนด์มาแข็งค่าได้ในเร็วนี้ เนื่องจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในไทยยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น และเรามองว่า จุดเลวร้ายสุดของการระบาดยังมาไม่ถึง ทำให้ เราคงประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติก็ยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย ซึ่งแรงเทขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติยังคงกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

 

ทั้งนี้ ในระยะสั้น หากตลาดคลายกังวล ปัญหาการระบาด COVID-19 ทั่วโลก และกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดไม่จำเป็นต้องถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Asset) เพื่อหลบความผันผวนในตลาด ซึ่งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ก็อาจทำให้ เงินบาทไม่อ่อนค่าหนัก ทะลุ 33 บาทต่อดอลลาร์ได้เร็ว

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.80-32.95 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอยู่ ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดก็คาดหวังว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว หรือ Developed Markets อย่าง สหรัฐฯ และ ยุโรป ที่ดีขึ้นต่อเนื่อง จะช่วยหนุนให้ ผลประกอบการของหุ้นในกลุ่ม Cyclical ออกมาแข็งแกร่ง

 

ภาพดังกล่าวช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 จะขยายตัวเพียง 6.5% จากไตรมาสก่อนหน้า แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ +8.4% โดยดัชนี S&P500 ปิดบวก +0.42% จากแรงหนุนของหุ้นในกลุ่ม Cyclical ที่ปรับตัวขึ้นรับรายงานผลประกอบการที่ออกมาดีกว่าคาด

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็ปรับตัวขึ้น +0.33% โดยได้รับแรงหนุนจากความหวังรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนเช่นกัน กอปรกับ ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ หุ้นกลุ่มการเงิน Santander +2.57%, ING +1.82%, BNP Paribas +1.78%

 

ทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดเริ่มขายทำกำไรบอนด์ระยะยาว หลังตลาดโดยรวมกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย 2bps สู่ระดับ 1.26% ซึ่งระดับบอนด์ยีลด์ที่ทรงตัวใกล้ 1.30% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่เฟดยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย อีกทั้งผู้เล่นในตลาดก็เริ่มคลายกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มทยอยปรับตัวสูงขึ้น สู่ระดับ 1.50%-1.60% ณ สิ้นปี จากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังเฟดเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ และผู้เล่นในตลาดก็มีความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อหลบความผันผวนน้อยลง ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยง อีกทั้ง รายงาน GDP ไตรมาสที่ 2 สหรัฐฯ ก็ออกมาแย่กว่าคาด กดดันให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 91.88 จุด ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ก็หนุนให้สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.189 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วน เงินปอนด์ (GBP) สามารถปรับตัวขึ้น สู่ระดับ 1.396 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังรัฐบาลอังกฤษเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการ Lockdown 

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ผ่านรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 (GDP Growth Q2/2021) โดยตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 และอาจขยายตัวกว่า +13.2%y/y หลังจากที่เศรษฐกิจหดตัวกว่า -1.3%y/y ในไตรมาสแรก จากปัญหาการระบาดในช่วงต้นปี โดยแรงหนุนเศรษฐกิจมาจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ที่ช่วยหนุนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการบริการ ขณะเดียวกันภาคการผลิตก็ขยายตัวตามความต้องการสินค้าจากทั่วยุโรปและทั่วโลก

 

อย่างไรก็ดี แม้ยุโรปจะพบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวดเร็ว แต่ยอดผู้เสียชีวิตหรือป่วยหนัก กลับยังไม่ได้เพิ่มขึ้นไปมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเร่งแจกจ่ายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง อย่าง mRNA ซึ่งภาพดังกล่าวจะช่วยให้ยุโรปอาจไม่ต้องใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวด ทำให้ เราคงมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป กอปรกับ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ทำให้เราเชื่อว่า สินทรัพย์ยุโรป อาทิ หุ้น ยังมีความน่าสนใจต่อการลงทุนในปีนี้

 

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่า ตลาดมองว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายน มีโอกาสขยายตัวกว่า 2.9% จากเดือนก่อนหน้า แม้ว่าญี่ปุ่นจะเผชิญปัญหาการระบาดของ COVID-19 เช่นกัน แต่ทางการก็เลือกที่จะใช้มาตรการควบคุม Quasi-Lockdown ควบคู่ไปกับการเร่งแจกจ่ายวัคซีน ทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคไม่ได้ซบเซาหนัก

 

ส่วนทางด้านฝั่งไทย ตลาดจะติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่มีแนวโน้มเลวร้ายต่อเนื่อง ซึ่งความเลวร้ายของสถานการณ์การแพร่ระบาดอาจยากที่จะคาดเดา หลังยอดผู้ติดเชื้อจริงอาจสูงกว่ายอดที่มีการรายงาน เนื่องจากข้อจำกัดของการตรวจหาผู้ติดเชื้อและการสรุปยอดจากผลการตรวจ Rapid Test  ดังนั้นการติดตามสถานการณ์การระบาดอาจใช้ข้อมูลอื่น อาทิ ยอดผู้เสียชีวิตเมื่อเทียบกับช่วงปกติในอดีต หรือ Excess Mortality และ เทรนด์การเคลื่อนที่ของผู้คน ผ่าน Google Mobility data หรือ ข้อมูลการเดินทางจาก Apple Map อนึ่งปัญหาการระบาดของ COVID-19 จะยังคงส่งผลให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์ไทย กดดันให้ค่าเงินบาทมีทิศทางผันผวนและอ่อนค่าลงต่อได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เช้าวันนี้ (30 ก.ค.)อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.88-32.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.88 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทกลับมามีทิศทางอ่อนค่าเล็กน้อยท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ ขณะที่สกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียแข็งค่าขึ้น หลังตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/64 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีน้อยกว่าที่ตลาดคาด กดดันเงินดอลลาร์ฯ ให้อ่อนค่าลง  

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.80-32.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัญหาการระบาดของโควิด 19 ในประเทศและต่างประเทศ และข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลเดือนมิ.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค.