ตำรวจอัพเดท 9 ม็อบเดือนก.ค. ผู้ชุมนุมเจอ 18 คดี กว่า 172 ราย

28 ก.ค. 2564 | 06:27 น.

“ตำรวจนครบาล”อัพเดทการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม ห้วงเดือน ก.ค. จาก 9 ม็อบ ฟันแล้ว 18 คดี ผู้กระทำผิดไม่น้อยกว่า 172 ราย อีก 2 ม็อบล่าสุด กลุ่มทะลุฟ้า 23 ก.ค.- กลุ่มฮาเล่ย์ 25 ก.ค.อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน 

วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะโฆษก กองบัญชาการตำรวจนครบาล(โฆษก บช.น.)  กล่าวถึงภาพรวมการชุมนุมที่ผ่านมา และที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 และ 31 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ ว่า กรณีที่มีการรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมสำคัญต่างๆ ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 มีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทั้งหมด 9 กลุ่ม ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึงปัจจุบัน ดังนี้  

 

1.กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (2 กรกฎาคม 2564) 

 

2.กลุ่มไทยไม่ทนโดยนายจตุพรพรหมพันธุ์และอดุลย์เขียวบริบูรณ์ (3,10,11 กรกฎาคม 2564) 

 

3.กลุ่มประชาชนคนไทย โดยนายนิติธร ล้ำเหลือ (3,10 กรกฎาคม 2564) 

 

4.กลุ่มนายสมบัติบุญงามองค์จัดกิจกรรม CarMob (3,10 กรกฎาคม 2564) 

 

5.กลุ่มโมกหลวงริมน้ำโดยนายโสภณสุรฤทธิ์ธำรง (3 กรกฎาคม 2564) 

 

6.กลุ่มกิจกรรม“ Bangkok sandbox” โดยนายพรหมศรวีระธรรมจารี (6 กรกฎาคม 2564) 

 

7.กลุ่มอาชีวะปกป้องประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยนายธนเดช ศรีสงคราม (9 กรกฎาคม 2564) 

 

8.กลุ่มราษฎร, เยาวชนปลดแอก (Free Youth) และแนวร่วมต่างๆ (18 กรกฎาคม 2564) 

 

9.กลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้าโดยนายจตุภัทร์ หรือไผ่ดาวดิน บุญภัทรรักษา (22, 24 กรกฎาคม 2564)



 

ทั้ง 9 กลุ่มการชุมนุม ต่างทำกิจกรรมของตนในเขตท้องที่นครบาล  เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ , พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ , พ.ร.บ.ความสะอาดฯ , พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ พ.ร.บ. เครื่องขยายเสียงฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 

 

โดยในภาพรวมสถานีตำรวจที่เป็นท้องที่เกิดเหตุได้ตรวจพบการกระทำความผิด ได้แก่ สน.นางเลิ้ง สน.ชนะสงคราม สน.ดุสิต สน.สำราญราษฎร์ และสน.ลุมพินี ได้มีการรับคำร้องทุกข์ไว้เพื่อสอบสวนดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมรวมทั้งสิ้น 18 คดี โดยขณะนี้ได้ทราบตัวผู้กระทำผิดแล้วจำนวนไม่น้อยกว่า 172 ราย

 

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวด้วยว่า กรณีการชุมนุมมั่วสุมของกลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้าและกลุ่มม็อบฮาเลย์ ออกมานัดหมายการชุมนุมในวันที่ 23 และ 25 ก.ค.64 ที่ผ่านมา บริเวณห้าแยกลาดพร้าว และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้สั่งการให้สน.ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สน.พหลโยธิน สน.พญาไท และสน.นางเลิ้ง ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อประกอบการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดข้างต้น โดยจะออกหมายเรียกตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องให้มารับทราบข้อกล่าวหาตามพฤติการณ์ที่ได้กระทำผิดอีกประมาณ 20 ราย 


ทั้งนี้ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ แต่ขอให้อยู่ในขอบเขต ไม่ควรละเมิดกฎหมายข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นกติกาของสังคม หากมีผู้ใดฝ่าฝืนหรือทำเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็ย่อมจะได้รับโทษตามบทบัญญัตินั้น

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวอีกว่า กรณีที่มีการนัดหมายการชุมนุมผ่านช่องทางออนไลน์ของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งการนัดหมายวันที่ 28 และ 31 กรกฎาคม 2564 ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมชุมนุมตามสถานที่ต่างๆ ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น มีกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 2 กลุ่มดังนี้

 

1.ในวันนี้ 28 กรกฎาคม กลุ่มราษฎรฝั่งธนจัดกิจกรรม Car Mob นัดหมายการชุมนุมเวลา 15.30-19.00 น. บริเวณปากทางสาย 4 เพชรเกษมขาเข้าเมืองสิ้นสุดที่วงเวียนใหญ่ 

 

2.วันที่ 31 กรกฎาคม กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จัดกิจกรรม Car Mob นัดหมายเวลา 14.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยภายใต้กิจกรรมรวมพลังอาชีวะและประชาชนขับไล่นายกรัฐมนตรี

 

เนื่องจากขณะนี้การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ได้ทวีความรุนแรง  โดยวันนี้ได้ประกาศว่ามีผู้ติดเชื้อทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 16,533 คน เสียชีวิตเพิ่ม 133 คน จึงเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม ยุติกิจกรรมหรือเลิกการชุมนุมนั้น 

 

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หากมีการรวมกลุ่มกันเกินกว่า 5 คนกระทำการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองกระทบต่อการใช้รถใช้ถนนของประชาชนจะต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งขณะนี้ยังมีข้อห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 21.00-04.00 น. ตามข้อกำหนดฯ หากตรวจพบผู้ฝ่าฝืนก็จะมีความผิดดังกล่าวอีกส่วนหนึ่ง