“อย่าประมาทสายพันธุ์เดลตา” เดือนกันยายังจะได้เห็นยอดติดเชื้อพุ่งสูงสุด

27 ก.ค. 2564 | 17:05 น.

การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับยอดการติดเชื้อโควิดที่ระดับวันละ 40,000 ราย ผู้เชี่ยวชาญกล่าวเตือนว่า สถานการณ์ที่ว่าย่ำแย่แล้ว ยังห่างไกลจุดเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นใน 2 เดือนข้างหน้า

 ดร. อสิช จา อธิบการบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบราวน์ ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี แสดงความเห็นเกี่ยวกับ แนวโน้มการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา ว่า ไม่กี่เดือนข้างหน้าคือช่วงเวลาแห่งความยากลำบากอย่างที่สุดเนื่องจาก ไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วมาก ผลศึกษาใหม่ ๆพบว่า ในช่องทางเดินหายใจของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตานั้น อาจตรวจพบเชื้อไวรัสดังกล่าวจำนวนมากกว่าในกรณีของผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 1,000 เท่า

 ดร. อสิช จา

“ผู้คนอาจจะยังไม่ได้ตระหนักว่าไวรัสตัวนี้ส่งผลเสียหายได้ขนาดไหน...เรากำลังมุ่งหน้าเข้าสู่เดือนสิงหาคมที่สถานการณ์จะยากลำบากอย่างยิ่งยวด และอาจจะสาหัสยาวไปจนถึงเดือนกันยายนก่อนที่อะไร ๆจะเริ่มดีขึ้น” ดร.จาเชื่อว่า สถานการณ์อาจทวีความรุนแรงจนถึงระดับเลวร้ายที่สุดภายใน 2 เดือนข้างหน้า “มันอาจจะสูงสุดในเดือนกันยายน แต่ตอนนี้เรายังอยู่ห่างไกลจากจุดสูงสุดนั้น ปัจจุบันยอดติดเชื้อโควิดรายวันของเราอยู่ที่ประมาณ 40,000 ราย มันจะยังขยับขึ้นกว่านี้ได้อีกมาก ก่อนที่จะแตะระดับสูงสุด”

 

ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะซ้ำเติมสถานการณ์คือสภาพอากาศในฤดูหนาวซึ่งอาจจะทำให้อัตราการติดเชื้อโควิดขยับสูงขึ้น

 

จากข้อมูลของ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ CDC ชี้ว่า ไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตากำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วสหรัฐ และครองสัดส่วนมากกว่า 83% ของการติดเชื้อโควิดรายใหม่ทั้งหมดในประเทศในขณะนี้ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากที่เคยมีเพียง 50% เมื่อต้นเดือนก.ค.นี้เอง (3 ก.ค.)

 

ดร.โรเชล วาเลนสกี ผู้อำนวยการ CDC ให้ความเห็นเกี่ยวกับไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาว่า นี่คือไวรัสในระบบทางเดินหายใจที่ติดต่อได้ง่ายที่สุดสายพันธุ์หนึ่งเท่าที่เคยรู้จักมาตลอดประสบการณ์ 20 ปีของการทำงาน       

ทางด้าน องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดกลุ่มเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) มีจำนวน 4 สายพันธุ์ ได้แก่

  1. อัลฟา (Alpha) พบครั้งแรกในอังกฤษ
  2. เบต้า (Beta) พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้
  3. แกมมา (Gamma) พบครั้งแรกในบราซิล
  4. เดลตา (Delta) พบครั้งแรกในอินเดีย

“อย่าประมาทสายพันธุ์เดลตา” เดือนกันยายังจะได้เห็นยอดติดเชื้อพุ่งสูงสุด

เดลตาเป็นเชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่กำลังระบาดอย่างรวดเร็วแทนที่เชื้อกลายพันธุ์ก่อนหน้านี้ จากข้อมูลของ WHO พบว่า เชื้อกลายพันธุ์เดลตาแพร่กระจายไปใน 100 ประเทศทั่วโลกแล้ว  

 

ชารอน พีคอค (Sharon Peacock) นักจุลชีววิทยา หัวหน้ากลุ่มหน่วยงานด้านสาธารณสุขและสถาบันการศึกษาในอังกฤษ ได้กล่าวเตือนเกี่ยวกับเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาว่า อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ในระดับโลก และเนื่องจากไวรัสมีการกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลาเพื่อความอยู่รอดของมันเอง เชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาจึงอาจกลายพันธุ์ได้อีก  ดังนั้นทีมผู้เชี่ยวชาญจึงจำเป็นที่จะต้องถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสเพื่อศึกษาไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้ให้ถ่องแท้ อันจะนำไปสู่การรับมือกับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ในอนาคต

 

ทั้งนี้ ข้อมูลที่โลกรับทราบเกี่ยวกับเชื้อโควิดเดลตานั้น มี 3 ประการ ได้แก่

  • เชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้แพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม
  • อัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 50 – 60% ถือว่ามากกว่าเชื้อกลายพันธุ์ชนิดอื่น
  • ความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันร่างกาย จะชัดเจนมากในคนที่ไม่ฉีดวัคซีน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านโควิด-19 จำนวน 10 คนที่กำลังศึกษาเกี่ยวกับเชื้อโควิดสายพันธุ์นี้ ต่างเห็นตรงกันว่า วิธีการรับมือคือการฉีดวัคซีน เพราะวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงรวมทั้งการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ไม่ว่าผู้ติดเชื้อจะติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใดแต่กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงสุดในเวลานี้ ก็คือ คนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน

 

ยกตัวอย่างในประเทศอังกฤษ กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ในจำนวนคนป่วย 3,692 คนที่รักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาถึง 58.3% ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนอีก 22.8% ติดเชื้อโควิดแม้จะฉีดวัคซีนแล้ว ทั้งนี้มีหลักฐานใหม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดครบ 2 เข็มแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อได้อีก ซึ่งสายพันธุ์ที่ยังติดได้แม้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็คือ “สายพันธุ์เดลตา” นั่นเอง

 

นักวิจัยชี้ว่า สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับเชื้อโควิดเดลตา

  • หนึ่งคือ คนป่วยมีแนวโน้มอาการหนัก
  • สองคือ การแพร่เชื้อจากคนสู่คนที่ง่าย และเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ ตั้งฉายาเชื้อกลายพันธุ์เดลตาว่า เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้เร็วที่สุด
  • สามคือ การแพร่ระบาดในช่วงเวลาพอเหมาะที่สุด คือช่วงที่บางประเทศเริ่มลดการ์ดเพราะเห็นว่าควบคุมโควิดได้แล้ว สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้แล้ว หลายประเทศเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ (ปิดเมือง) ผ่อนผันข้อจำกัดการเดินทาง และเปิดเศรษฐกิจของประเทศ

 

ดังนั้น การระบาดของเชื้อไวรัสโควิดเดลตา จึงทำให้หลายประเทศต้องหวนกลับมาเข้มงวดกับมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง บ้างที่เคยปลดหน้ากากอนามัยออกแล้ว ก็ต้องหวนกลับมาใส่กันใหม่ ซึ่งยังไม่มีใครบอกได้ว่าต้องเป็นเช่นนี้ไปอีกยาวนานแค่ไหน