ข่าวปลอม ! ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเคอร่า (Kerra) รักษาโรคโควิด-19

16 ก.ค. 2564 | 03:15 น.

ข่าวปลอม อย่าแชร์! ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเคอร่า (Kerra) รักษาโรคโควิด-19 เผยข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ยาแผนไทย บ่งใช้เป็นยาแก้ไข้ ไม่พบหลักฐานการวิจัยถึงประสิทธิผลการใช้เพื่อรักษาโรคโควิด-19

ตามที่มีการแนะนำถึงประเด็นเรื่อง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเคอร่า (Kerra) รักษาโรคโควิด-19 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขพบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

 

จากกรณีการแชร์ข้อมูลที่ระบุว่าสมุนไพรทางเลือกอีกหนึ่งตัว กินแล้วหาย 100 % ได้ผลจริง ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า จากการตรวจสอบข้อมูลและเนื้อหาพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบยาเม็ดที่ได้จากสมุนไพรหลายชนิด ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาว หัวคล้า รากฟักข้าว รากมะนาว รากสะแก รากกระทุงหมาบ้า รากย่านาง บอระเพ็ด

 

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสูตรที่ขึ้นทะเบียนตํารับแล้ว พบว่าไม่มีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบ และมิได้มีสรรพคุณหรือมีฤทธิ์ในการช่วยรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด โดยจากการสืบค้นข้อมูลทางวิชาการ ไม่พบหลักฐานข้อมูลการวิจัยถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยในการใช้เพื่อข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคโควิด-19 ดังกล่าว รวมถึงการสืบค้นฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วพบผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ยาแผนไทยเลขทะเบียนยาที่ G 40/57 ข้อบ่งใช้เป็นยาแก้ไข้ ดังนั้น การนำเอาผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวมาใช้เพื่อรักษาโรคโควิด-19 จึงไม่สอดคล้องตามสรรพคุณที่ขึ้นทะเบียนไว้ จึงไม่แนะนําให้ใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าว เพื่อรักษาโควิด-19

 

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพ หรือหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1556 และสามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th

บทสรุปของเรื่องนี้คือ: ผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวมิได้มีสรรพคุณหรือมีฤทธิ์ในการช่วยรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด รวมถึงไม่พบหลักฐานข้อมูลการวิจัยถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยในการใช้เพื่อข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคโควิด-19

 

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข

 

ข่าวปลอม ! ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเคอร่า (Kerra) รักษาโรคโควิด-19 ทีที่มา : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย