เปิดความจริง ข้อมูลวิชาการชี้ชัด แผ่นดินไทยไม่อาบสารพิษ

07 ก.ค. 2564 | 13:54 น.

นายกสมาคมวิทยาวัชพืชแห่งประเทศไทย เปิดความจริง แผ่นดินไทยไม่อาบสารพิษ ข้อมูลวิชาการชี้ชัด โต้กลุ่มต่อต้านสารเคมี เผยความจริงเพียงครึ่งเดียว พยายามชี้นำคนในสังคม ให้มองเพียงตัวเลขด้านเดียว

เปิดความจริง ข้อมูลวิชาการชี้ชัด แผ่นดินไทยไม่อาบสารพิษ

 

ดร.จรรยา  มณีโชติ สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” หลังจากที่ สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อมูลค่าเฉลี่ย 28 ปี (พ.ศ. 2543-2561) ของปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ต่อหน่วยพื้นที่ ซึ่งปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)  เพื่อใช้จัดอันดับ 10 ประเทศที่ใช้สารต่อพื้นที่มากที่สุด (Top 10 countries) และ 10 อันดับใช้สารต่อพื้นที่น้อยที่สุดในโลก(Bottom 10 countries) สมาคมฯ กลับถูกโจมตีจากกลุ่มต่อต้านสารเคมี กล่าวว่า  สมาคมฯ พยายามบิดเบือนข้อมูล เพื่อลบล้างวาทกรรมยอดฮิต "แผ่นดินไทยอาบสารพิษ" ของกลุ่มต่อต้านสารเคมี

 

“เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มต่อต้านสารเคมี พยายามชี้นำคนในสังคม ให้มองเพียงตัวเลขด้านเดียว คือปริมาณนำเข้าสารเคมีของประเทศไทยในแต่ละปี ซึ่งมีปริมาณสูงหลายหมื่นตัน  จนเกิดกระแสความหวาดกลัวและต่อต้านการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในภาคเกษตร แต่การใช้ข้อมูลดังกล่าว เป็นตัวชี้วัด ว่าการใช้สารเคมีในประเทศไทย มีมากเกินความจำเป็น ทำให้แผ่นดินอาบสารพิษ นั้น เป็นการพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว (Half truth)”

 

ดร.จรรยา กล่าวว่า เมื่อดูตัวเลขในเชิงปริมาณการใช้สารเคมีของแต่ละประเทศ ในปี 2561 (ภาพ 1) พบว่า   จีน เป็นประเทศอันดับ 1 ของโลก ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืบสูงถึง มากที่สุดในโลกคิดเป็นปริมาณ 1.77 ล้านตัน อันดับ 2 สหรัฐอเมริกา (407,779 ตัน) อันดับ 3 บราซิล (377,176 ตัน) อันดับ 4 อาร์เจนตินา  (172,928 ตัน)อันดับ 5 แคนาดา (90,838 ตัน) อันดับ 6  ฝรั่งเศส (85,072 ตัน) และอันดับ 19 ไทย (35,287 ตัน) 

 

เปิดความจริง ข้อมูลวิชาการชี้ชัด แผ่นดินไทยไม่อาบสารพิษ

 

ถ้ากลุ่มต่อต้านสารเคมี เห็นว่า ปริมาณการใช้สารเคมี เป็นตัวชี้วัด ที่ถูกต้อง เหตุใดประเทศที่มีการใช้สารเคมี มากกว่าประเทศไทย ทั้ง 18 ประเทศ ไม่เคยถูกจัดให้เป็นประเทศ "แผ่นดินอาบสารพิษ" เหมือนที่กล่าวหาประเทศไทย‼️ เพราะปริมาณการใช้สารเคมี กำจัดศัตรูพืช ของจีน ในปี 2561 สูงกว่าไทยถึง 50 เท่า

 

“ถึงแม้ว่า ข้อมูลปริมาณการใช้สารเคมีของประเทศไทย ที่ปรากฏบนเว็บไซต์ ของ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ จะน้อยกว่า ข้อมูลของ กรมวิชาการเกษตร ซึ่งรายงานไว้ในปี 2561 ว่ามีการนำเข้า สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 87,517 ตัน ก็ตาม เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับจีน พบว่า ไทยยังใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณต่ำกว่า จีน ถึง 20 เท่า และต่ำกว่า สหรัฐอเมริกา 4.6 เท่า”

 

มาถึงตรงนี้ หลายท่านคงเริ่มเข้าใจ ว่า ปริมาณสารเคมี ที่ประเทศไทย นำเข้ามาปีละหลายหมื่นตันนั้น ไม่ใช่‼️ตัวชี้วัดที่ถูกต้องว่า..แผ่นดินอาบ "สารพิษ"❓เมื่อดูตัวเลขในมิติของปริมาณการใช้สารเคมีแล้ว เราลองมาดูตัวเลขในมิติของ พื้นที่ปลูกพืชในแต่ละประเทศ ว่าใครมีมากหรือน้อยกว่ากัน 

 

ในภาพ 2  แสดงการจัดอันดับ 50 ประเทศ ที่มีพื้นที่ปลูกพืชมากที่สุดในโลกในปี 2561  ปรากฏว่า ประเทศอินเดียมีพื้นที่ปลูกพืช ( Crop land area) มากที่สุดในโลก 1,059 ล้านไร่ อันดับ 2 สหรัฐอเมริกา (1,003 ล้านไร่) อันดับ 3 จีน (843 ล้านไร่) อันดับ 4 บราซิล (397 ล้านไร่) อันดับ 5 อินโดนีเซีย (321 ล้านไร่) และอันดับ 6 ไนจีเรีย  (253 ล้านไร่) ส่วนไทย มีพื้นที่ปลูกพืชอยู่อันดับ 13 ของโลก (133.2 ล้านไร่)

 

เปิดความจริง ข้อมูลวิชาการชี้ชัด แผ่นดินไทยไม่อาบสารพิษ

หากดูข้อมูลในมิติของปริมาณการใช้สารเคมีฯ ประเทศจีนจะถูกจัดเป็นอันดับ 1 ของโลก (แต่ไม่เคยได้ยินว่าแผ่นดินจีนอาบสารพิษ)  ข้อมูลในมิติของพื้นที่ปลูกพืช จีน อยู่ลำดับ 3  ของโลก แต่ข้อมูลในมิติของ ปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อหน่วยพื้นที่ปลูกพืช (กิโลกรัมต่อไร่) ใน ปี 2561 พบว่า จีน เป็นประเทศที่มีการใช้สารเคมีมากเป็นอันดับ 10 ของโลก ( 2.09 กก. /ไร่) 

 

เปิดความจริง ข้อมูลวิชาการชี้ชัด แผ่นดินไทยไม่อาบสารพิษ

อันดับ 1 คือ มอร์ริเชียส (4.47 กก./ไร่)  รองลงมาคือ อันดับ 2 เอกวาดอร์ (4.13 กก./ไร่) อันดับ 9 ไต้หวัน (2.13 กก./ไร่) อันดับ 13 ญี่ปุ่น (1.89 กก./ไร่) อันดับ 20 เนเธอร์แลนด์ (1.41 กก./ไร่) อันดับ 27 บราซิล (0.95 กก./ไร่) อันดับ 33 มาเลเซีย (0.85 กก./ไร่) อันดับ 36 สวิตเซอร์แลนด์ (0.79 กก./ไร่) อันดับ 40 ฝรั่งเศส ( 0.71 กก./ไร่) ส่วนไทย อยู่อันดับที่ 73 ของโลก (0.26 กก./ไร่) ซึ่งต่ำกว่าค่าฉลี่ยทั่วโลก (0.42 กก./ไร่)

 

จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า การนำเสนอข้อมูลเพียงมิติเดียว คือปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ไม่สามารถสะท้อนให้เห็นภาพปัญหาที่แท้จริงจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ดังนั้น ทำไม FAO และหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก จึงใช้ข้อมูลในมิติเชิงปริมาณสารต่อหน่วยพื้นที่ เป็นตัวชี้วัด ว่าประเทศใดใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช มากหรือน้อยกว่ากัน   ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสิ่งแวดล้อมทางการเกษตร (Agri-environmental indicator) ที่ถูกต้องกว่าตัวเลข "ปริมาณนำเข้าสารเคมี" เพียงอย่างเดียว‼️

 

 

ดร.จรรยา กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นคำถามว่า ตัวเลขปริมาณสารกำจัดศัตรูพืช ที่รายงานโดย FAO ต่ำกว่า ปริมาณการนำเข้าสารเคมีในประเทศไทย ที่รายงานโดยสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร นั้น คงต้องไปหาคำตอบจากกรมวิชาการเกษตร ว่าทำไมข้อมูลไม่ตรงกัน❓ และทำเรื่องชี้แจงไปยัง FAO

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำตัวเลขปริมาณนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ของ กรมวิชาการเกษตร หักด้วยปริมาณการส่งออกไปต่างประเทศ เหลือปริมาณสารทั้งหมด 87,515,728 กิโลกรัม ถ้ามองมิติเดียวในเชิงปริมาณ ตัวเลขนี้จะดูน่ากลัวมาก แต่เมื่อนำไปหารด้วยพื้นที่ ทำการเกษตรของประเทศไทย 138,138,500 ไร่  พบว่าในปี 2561  เกษตรกรไทยใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช  (โรค แมลง วัชพืช) 0.63 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งยังน้อยกว่าประเทศฝรั่งเศส   

 

เปิดความจริง ข้อมูลวิชาการชี้ชัด แผ่นดินไทยไม่อาบสารพิษ

ในทางปฏิบัติ เกษตรกรจะนำสารออกฤทธิ์ 0.63 กิโลกรัม ไปละลายน้ำ 100 ลิตร พ่นลงบนพื้นที่ 1 ไร่ (=1,600 ตารางเมตร)  เพื่อปกป้องผลผลิตจากศัตรูพืช คิดเป็นปริมาณสารต่อหน่วยพื้นที่ เท่ากับ 400 มิลลิกรัม/ตารางเมตร ซึ่งในเชิงปริมาณเทียบเคียงได้กับ พาราเซตามอล 1 เม็ด ( 500 มิลลิกรัม)

 

ด้วยปริมาณเท่านี้ ไม่สามารถทำให้ แผ่นดินไทยอาบ "สารพิษ" ตามวาทกรรมยอดฮิต ที่กลุ่มต่อต้านสารเคมี พยายามใช้เพื่อความชอบธรรมและสร้างกระแสเพื่อปลุกกระแสความหวาดกลัวสารเคมีให้แก่ผู้คนในสังคมร่วมกับกลยุทธพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว (half truth) จึงนำไปสู่การแบนสาร พาราควอต (กำจัดวัชพืช) และคลอร์ไพรีฟอส (กำจัดแมลง) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 สารเคมีกำจัดศัตรูพืชคือปัจจัยการผลิตไม่ใช่สารพิษ‼️  นี่แหละ ความจริงเพียงครึ่งเดียว