ส่องปัจจัยหนุนอุตฯยานยนต์ไทย คาดปี 68-69 แนวโน้มขยายตัว

28 ก.ย. 2567 | 22:30 น.

วิจัยกรุงศรี ประเมินอุตฯยานยนต์ไทย คาดปี 68-69 ตลาดจะเริ่มฟื้นตัวทั้งการขายในประเทศและตลาดส่งออก ส่องปัจจัยหนุนอุตสาหกรรมที่นี่

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2567 ถือว่าหนักหน่วง ทั้งการขายในประเทศ และตลาดส่งออกที่มีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า โดยข้อมูลล่าสุดจากทางกลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.ได้ปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปี 2567 ลดลง จากเดิมที่ตั้งไว้ 1.9 ล้านคัน ก็ปรับลดมาเป็น 1.7 ล้านคัน โดยปรับลดในส่วนของตลาดในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความเข้มงวดของไฟแนนซ์ และสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว หนี้ครัวเรือนสูง ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศยังคงยึดเป้าหมายเดิม

เป้าหมายการผลิตรถยนต์ปี 2567 

  • ผลิตเพื่อส่งออก 1,150,000 คัน (เป้าคงเดิม)
  • ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 550,000 คัน (เดิมตั้งเป้า 750,000)
  • รวมยอดผลิตรถยนต์ปี 2567 จำนวน 1,700,000 คัน (เดิมตั้งเป้า 1,900,000 คัน)

วิจัยกรุงศรี ประเมินอุตฯยานยนต์ไทย คาดปี 68-69 ตลาดจะเริ่มฟื้นตัวทั้งการขายในประเทศและตลาดส่งออก

 

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบัน ทำให้ทาง "วิจัยกรุงศรี" โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ออกมาวิเคราะห์ถึงแนวโน้มและทิศทางของธุรกิจ-อุตสาหกรรมยานยนต์ว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต ซึ่งข้อมูลโดยสรุปเบื้องต้นระบุว่า การผลิตรถยนต์ช่วงปี 2567-2569 มีแนวโน้มหดตัว -3.5 ถึง -2.5% ต่อปี อันเนื่องมาจากการหดตัวของตลาดในประเทศปี 2567 และการแข่งขันกับรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ 

 

อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตจะเริ่มกระเตื้องขึ้นในช่วงปี 2568-2569 โดยยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศมีแนวโน้มหดตัวเฉลี่ย -4.5% ถึง -3.5 % ต่อปี ในปี 2567 จากการอนุมัติสินเชื่อที่ยังคงเข้มงวด และภาวะกำลังซื้อที่ยังคงอ่อนแอจากค่าครองชีพและสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง แต่จะเริ่มฟื้นตัวในปี 2568-2569 โดยมีปัจจัยหนุนการฟื้นตัวดังนี้
 

  1. กิจกรรมในภาคธุรกิจและการลงทุนที่จะกระเตื้องขึ้น และภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง
  2. การเข้าสู่ La Niña ที่เอื้อต่อผลผลิตภาคเกษตร 
  3. กลยุทธ์ส่งเสริมการขายและสงครามราคาที่รุนแรงขึ้นทั้งในกลุ่มรถ BEV ด้วยกันและการพัฒนาโมเดลใหม่ของรถยนต์นั่ง ICE เพื่อแข่งกับรถยนต์ไฟฟ้า  
  4. แนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจากมาตรการ EV 3.5 รวมทั้งการพัฒนาโมเดลและประสิทธิภาพรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระยะทางวิ่งต่อชาร์จ

การขยายตัวต่อเนื่องของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

ส่วนยอดส่งออกรถยนต์มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 1.0-2.0% ต่อปี โดยในปี 2567 อาจยังทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อย แต่จะขยายตัวในช่วงปี 2568-2569 ตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจและภาวะกระเตื้องขึ้นของการลงทุนในประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะตลาด ASEAN ที่จะได้อานิสงส์จากการเข้าไปลงทุนขยายฐานการผลิตจากจีนและญี่ปุ่น

มุมมองวิจัยกรุงศรี ได้เจาะลึกถึงแนวโน้มการเติบโต ปัจจัยบวก ปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยแบ่งออกเป็นดังนี้


ผู้ผลิตรถยนต์ 

  • จะเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากการแข่งขันของตลาดและสงครามราคาที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดในประเทศและส่งออกหดตัวรุนแรงในปี 2567 ก่อนจะทยอยกระเตื้องขึ้นในปี 2568-2569

ผู้ผลิตรถยนต์นั่งเครื่องยนต์สันดาปภายใน

  • จะเผชิญปัจจัยฉุดรั้งจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงในปี 2567 จากภาระต้นทุนเชื้อเพลิงที่ยังสูง การคุมเข้มการอนุมัติสินเชื่อโดยสถาบันการเงิน ความนิยมในรถอีโคคาร์ Eco-car ที่ลดลง และการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 และ 6 ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม รถยนต์สันดาปภายในน่าจะเริ่มขยายตัวได้ในอัตราต่ำ ในปี 2568-2569 ตามภาวะกำลังซื้อที่เริ่มกระเตื้องขึ้น

ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

  • มีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะ HEV และ BEV โดยมีปัจจัยหนุนจากนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ (มาตรการลดภาษีสรรพสามิต HEV และ EV 3.5) แนวโน้มการยอมรับในเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าและความตระหนักในด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนในการผลิตแบตเตอรี่ที่ลดลง

ผู้ผลิตรถกระบะ 1 ตัน 

  • ในปี 2567 ยังคงเผชิญปัจจัยฉุดรั้งจากกำลังซื้อของผู้บริโภครายได้ปานกลาง-ต่ำที่ยังคงเปราะบาง ทำให้สถาบันการเงินยังคงคุมเข้มการอนุมัติสินเชื่อ รวมทั้งผลกระทบของ El Nino ต่อผลผลิตของเกษตรกรและยอดสั่งซื้อรถกระบะที่ใช้ในการประกอบอาชีพ แต่แนวโน้มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มกระเตื้องขึ้นในปี 2568-2569 น่าจะหนุนความต้องการให้ขยายตัว

ผู้ผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ (รถบรรทุก รถโดยสาร และรถตู้)

  • จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว รวมทั้งธุรกิจ e-commerce ที่จะยังเติบโตต่อเนื่อง

แนวโน้มการเติบโต ปัจจัยบวก ปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์

ที่มาข้อมูล