โตโยต้า ฟันธงตลาดรถยนต์ปี 66 ทะลุ 9 แสนคัน

26 ม.ค. 2566 | 08:36 น.

โตโยต้า เผยแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี 66 ทำยอดขายรวมทะลุ 9 แสนคัน ส่วนโตโยต้า ตั้งเป้าโกย 3.1 แสนคัน ครองส่วนแบ่งตลาด 34.4 %

ตลาดรถยนต์ปี 2565 ปิดตัวเลขการขายที่ 849,388 คัน เพิ่มขึ้น 11.9% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยค่ายรถที่ครองยอดขายอันดับ 1 ได้แก่ โตโยต้า ขายได้ 288,809 คัน เพิ่มขึ้น 20.5 % ครองส่วนแบ่งตลาด 34.0% ส่วนอันดับ 2 เป็นอีซูซุ ขายได้ 212,491 คัน เพิ่มขึ้น 15.4% ครองส่วนแบ่งตลาด 25.0% และอันดับ 3 ฮอนด้า ขายได้ 82,842 คัน ลดลง 6.6% ครองส่วนแบ่งตลาด 9.8%

ยอดขายรถยนต์รวมที่เติบโตในปี 2565 ทำให้มีการประเมินกันว่าในปี 2566 อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะค่อยๆกลับคืนสู่ภาวะปกติ โดยจะเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมๆกันกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด ขณะเดียวกันทิศทางการแพร่ระบาดของโควิด -19 คลี่คลาย ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตกันตามปกติ การเปิดประเทศ การส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมไปถึงปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิตเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มทยอยกลับคืนสูภาวะปกติ
 

โตโยต้า ฟันธงตลาดรถยนต์ไทยมียอดขาย 9 แสนคัน
นาย โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า โตโยต้าได้ประมาณการยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2566 จำนวน 9 แสนคัน เพิ่มขึ้น 6 % เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยแบ่งออกเป็น รถยนต์นั่ง 301,500 คัน เพิ่มขึ้น 13.7% และ รถเพื่อการพาณิชย์  598,500 คัน เพิ่มขึ้น 2.4% ขณะที่เป้าหมายยอดขายของโตโยต้า ในปี 2566 อยู่ที่ 3.1 แสนคัน เพิ่มขึ้น 7.3% ครองส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 34.4%

 

เป้าหมายยอดขายของโตโยต้า ที่วางไว้ 3.1 แสนคัน แบ่งสัดส่วนการขายดังนี้ 

  1. รถยนต์นั่ง 96,900 คัน เพิ่มขึ้น 17.1% ครองส่วนแบ่งตลาด   32.1%
  2. รถเพื่อการพาณิชย์  213,100 คัน เพิ่มขึ้น 3.4% ครองส่วนแบ่งตลาด 35.6% 
  • รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง)183,000 คัน เพิ่มขึ้น 4.1% ครองส่วนแบ่งตลาด 41.1%
  • รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 155,000 คัน เพิ่มขึ้น 4.7%ส่วนแบ่งตลาด 41.9%

ส่วนเป้าหมายในการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของโตโยต้าในปี 2566 คาดว่าจะทำได้ 405,000 คัน เพิ่มขึ้น 7 % ขณะที่เป้าการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของปีนี้ จะอยู่ที่ ราว 723,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 9.7% 


นาย ยามาชิตะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 คาดว่าความต้องการของตลาดต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ดังนั้นโตโยต้าจึงตั้งเป้าส่งออกเพิ่มขึ้น 7% ส่วนเป้าการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของก็คาดว่าจะอยู่ที่ 723,000 คัน เพิ่มขึ้น 9.7% 

 

นาย โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย

เป้าหมายธุรกิจในปี 2566 ของโตโยต้า
โตโยต้า วางเป้าหมายการเป็น “ผู้นำพาการขับเคลื่อนสำหรับทุกคน” (Mobility for All) พร้อมสร้าง “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) ผ่านการเตรียมความพร้อมในหลากหลายแนวทาง หรือ “Multi - Pathway”  เพื่อทุกความเป็นไปได้ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเดินทางของผู้คน ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ การบริการ และ กิจกรรมต่างๆ 

แผนงานด้านผลิตภัณฑ์ และการบริการ
โตโยต้าได้พัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและพลังงานทางเลือก ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมการตลาดและการส่งเสริมการขายภายใต้แนวคิด Closer to customer (ใกล้ชิดกับลูกค้ามากยิ่งขึ้น) พร้อมทั้งร่วมกับเครือข่ายทางธุรกิจในการนำเสนอนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์เพื่อมอบประสบการณ์การเดินทางและการบริการที่ดีให้แก่ลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ อาทิ การผสมผสานเทคโนโลยีแห่งการเชื่อมต่อเพื่อสร้างความสะดวกสบายในการเดินทาง (Connected) การบริการการขับเคลื่อนในรูปแบบของการแบ่งปันการใช้งาน (Sharing) เป็นต้น 


แผนงานด้านสังคม
โตโยต้าเน้นการขับเคลื่อนสังคมไทย สู่ “ยุคแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยดำเนินงานในภาคส่วนต่างๆ พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) อาทิ 

โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ยั่งยืนปราศจากมลภาวะร่วมกับเมืองพัทยา ซึ่งที่ผ่านมาโตโยต้าได้มีการนำรถยนต์พลังงานสะอาดทุกรูปแบบไปทดลองให้บริการเพื่อตอบสนองการเดินทางที่มีความหลากหลายแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในเมืองพัทยา โดยได้ร่วมมือกับโรงแรมและจุดท่องเที่ยวในตัวเมืองพัทยาเพื่อใช้เป็นจุดบริการรับรถและสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับผู้ที่สนใจใช้บริการ

โดยในปีนี้มีแผนที่ขยายผลความร่วมมือเพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานที่หลากหลายและครอบคลุมพื้นที่ในตัวเมืองพัทยามากยิ่งขึ้นตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายผลการดำเนินงานสู่ความร่วมมือในการบริการระบบขนส่งมวลชนภายในตัวเมืองพัทยาด้วยรถยนต์พลังงานทางเลือกอย่าง ไฮโดรเจน และ เซลส์เชื้อเพลิง พร้อมทั้งแผนการขยายการดำเนินงานไปยังพื้นที่ของจังหวัดอื่นๆต่อไปในอนาคต

โครงการความร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในการร่วมมือศึกษาแนวทางในการลดมลพิษจากการโลจิสติกส์ขนส่งสินค้า ด้วยเทคโนโลยีที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างรถบรรทุกที่ใช้พลังงานจากเซลส์เชื้อเพลิง ตลอดจนแนวทางการผลิตไฮโดรเจนพลังงานสะอาดจากชีวมวล

โครงการความร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)

การขยายผลการดำเนินงานของโครงการ "ชุมชนสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน" ซึ่งเป็นการยกระดับจากการสร้างศูนย์การเรียนรู้ จากโครงการ "โตโยต้า เมืองสีเขียว อยุธยา" ไปสู่การสร้างชุมชนต้นแบบที่จะสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้ทุกคนในชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน โดยในปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดชุมชนต้นแบบแห่งแรกไปแล้วที่จังหวัดระยอง และในปีนี้ โตโยต้าได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายเพิ่มให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ