ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาด "แข็งค่า"ที่ระดับ 36.26 บาทต่อดอลลาร์

04 ส.ค. 2565 | 00:51 น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.26 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.28 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยมากขึ้น หลังสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ คลี่คลายลง
 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินอาจช่วยหนุนให้ เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง โดยเฉพาะหากนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยมากขึ้น หลังสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ได้คลี่คลายลง
 

อย่างไรก็ดี ควรระมัดระวังความผันผวนในตลาดค่าเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เพราะแม้ว่า BOE จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยตามคาด แต่หาก BOE ยังคงกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักหรือเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยช่วงปลายปี เหมือนในการประชุมครั้งก่อนหน้า ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงหลังรับรู้การประชุมและหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้
 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
 
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.10-36.30 บาท/ดอลลาร์

 

บรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อีกครั้ง หลังความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ได้คลี่คลายลง (ทั้งสองฝ่ายไม่มีการเผชิญหน้าทางทหาร) ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาดไปมาก โดยดัชนี PMI ภาคการบริการ ซึ่งสำรวจโดย ISM ในเดือนกรกฎาคม ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.7 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะปรับตัวลงหนัก นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ Paypal +9.3%, Regeneron +5.9%, Starbuck +4.3% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.56%
 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 ก็พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นราว +0.51% แม้ว่าตลาดโดยรวมจะยังคงกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป แต่ตลาดยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ AXA +5.7%, Infineon Tech. (Chip Maker) +5.0%, Commerzbank +2.5%  
 

ทางด้านตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวผันผวนสูงในช่วงการซื้อขายที่ผ่านมา โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นแตะระดับเกือบ 2.84% ท่ามกลางบรรยากาศในตลาดที่เปิดรับความเสี่ยง ก่อนที่จะย่อตัวลงสู่ระดับ 2.72% หลังราคาน้ำมันดิบย่อตัวลงจากรายงานสต็อกน้ำมันคงคลังในสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นบางส่วนมองว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงได้ หากไม่มีแรงกดดันจากราคาน้ำมัน ทำให้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์จึงเป็นน่าสนใจที่จะทยอยเข้าซื้อ ซึ่งเรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเคลื่อนไหวในกรอบโดยผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะบอนด์ยีลด์ ปรับตัวขึ้นเพื่อทยอยเข้าซื้อ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงมองแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงและเฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 106.5 จุด หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงย้ำจุดยืนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จนกว่าจะแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ ทั้งนี้ เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจเผชิญแรงขายทำกำไรบ้าง หากตลาดคลายกังวลปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และตลาดโดยรวมกลับมาเปิดรับความเสี่ยงจากรายงานผลประกอบการที่ออกมาดีกว่าคาด ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้กดดันให้ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,764 ดอลลาร์ต่อออนซ์
 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง โดยหากรายงานผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาดก็จะสามารถช่วยหนุนให้ผู้เล่นในตลาดสามารถเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้
 

ส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจนั้น ตลาดจะรอลุ้น ผลการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยตลาดคาดว่า ภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในรอบกว่า 40 ปี (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 9.4%) จะส่งผลให้ BOE ตัดสินใจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 1.75% และมีโอกาสที่ BOE จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนถึงระดับ 2.50% ภายในสิ้นปีนี้ หรือ มากกว่านั้น หากเศรษฐกิจไม่ได้ชะลอตัวลงหนักหรือเข้าสู่สภาวะถดถอยอย่างที่ BOE เคยออกมาเตือนในเดือนมิถุนายน
 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 36.17-36.19 บาทต่อดอลลาร์ฯ (9.20 น.) ขยับแข็งค่ากลับมาเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 36.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทและสกุลเงินเอเชียในภาพรวมขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ยังไม่มีสัญญาณรุนแรงจากสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนในประเด็นเกี่ยวกับไต้หวัน แม้ว่า จีนจะมีการออกประกาศระงับการนำเข้าสินค้าบางประเภทกับไต้หวันก็ตาม นอกจากนี้การปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ โดยเฉพาะยีลด์ระยะยาวของสหรัฐฯ ยังจำกัดกรอบการปรับขึ้นของเงินดอลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน 
 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 36.15-36.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนและประเด็นเกี่ยวเนื่องกับกรณีไต้หวัน ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ ตลอดจนตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ