เลือกลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกองไหนดี

03 ส.ค. 2565 | 10:26 น.

เลือกลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกองไหนดี: บทความโดยฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

หากเอ่ยถึงคำว่า ‘สังคมสูงวัย’ (Aged Society) เชื่อว่าเพื่อนสมาชิกหลายท่านคงคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายในการเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์’ ในปี 2566 นั่นคือ จะเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเฉพาะด้านการเงินและสุขภาพ

 

เมื่อพิจารณาเงินออมเพื่อยามเกษียณอย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund หรือ PVD) พบว่า มีสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เกษียณอายุเพียง 23% เท่านั้นที่ได้รับเงินมากกว่า 3.1 ล้านบาท ณ วันเกษียณ ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินเกษียณขั้นต่ำเดือนละ 8,600 บาทต่อเดือน สำหรับการใช้จ่ายจนถึงอายุ 90 ปี ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการไว้ นั่นหมายความว่า ในจำนวนผู้สูงอายุ 100 คน จะมีผู้สูงอายุถึง 77 คน ที่มีเงินไม่เพียงพอดูแลตนเองยามเกษียณ

เงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ วันเกษียณ จะเพียงพอหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ หลายประการ อาทิ อัตราเงินสะสม-สมทบ ระยะเวลาการออม ไลฟ์สไตล์หรือรูปแบบการใช้เงินหลังเกษียณและอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ การเลือกนโยบายการลงทุนและกองทุนในช่วงที่ยังเป็นสมาชิกกองทุนหรือช่วงก่อนเกษียณนั่นเอง

 

  • การเลือกนโยบายการลงทุนและกองทุน

ปัจจุบันนโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่ระดับสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง(ความเสี่ยงต่ำ) จนถึงสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูง (ความเสี่ยงสูง) อาทิ เงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ

เพื่อนสมาชิกสามารถเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับลักษณะและความต้องการของตนเอง เช่น อายุ (หากใกล้เกษียณอายุ อาจเลือกลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้) การยอมรับความเสี่ยงในการลงทุน และความต้องการผลตอบแทน ภายใต้นโยบายการลงทุนและกองทุนที่คณะกรรมการกองทุนได้คัดเลือกมาให้เหมาะสมกับสมาชิกกองทุนส่วนใหญ่

 

อย่างไรก็ดี หากเพื่อนสมาชิกไม่รู้ว่า ควรเลือกนโยบายการลงทุนและกองทุนที่เหมาะกับตนอย่างไร หรือควรปรับสมดุลของพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับช่วงอายุและระดับความเสี่ยงที่ตนรับได้เมื่อไร

 

การเลือกแผนการลงทุนแบบสมดุลตามอายุ (life path หรือ target date) อาจตอบโจทย์ได้ดีกว่า เนื่องจากเป็นนโยบายการลงทุนที่มีการจัดสรรเงินลงทุนตามช่วงอายุของสมาชิกในระยะยาว มีการปรับสัดส่วนการลงทุนระหว่างสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงโดยอัตโนมัติตลอดช่วงอายุสมาชิก เพื่อให้สมาชิกมีเงินเพียงพอใช้หลังเกษียณ

 

เพื่อนสมาชิกเพียงแค่ให้ข้อมูลอายุแก่คณะกรรมการกองทุนเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อนสมาชิกต้องตรวจสอบดูว่า คณะกรรมการกองทุนได้คัดเลือกนโยบายการลงทุนแบบ life path เป็นทางเลือกในการลงทุนให้สมาชิกหรือไม่

 

  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพประเภทหลายนายจ้าง (pooled fund)

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพประเภทหลายนายจ้าง หรือ pooled fund เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับความสนใจจากคณะกรรมการกองทุนมากขึ้น โดย pooled fund เป็นกองทุนที่บริษัทจัดการเป็นผู้จัดตั้ง และนายจ้างที่สนใจมาร่วมลงทุนกับ pooled fund ซึ่งจะต้องหาข้อมูลจากกองทุนที่มีอยู่ในท้องตลาด       เพื่อเปรียบเทียบและเลือกกองทุนที่เหมาะสมที่สุด

 

ต่างจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประเภทนายจ้างรายเดียว (single fund) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประเภทกลุ่มบริษัท (group fund) ที่คณะกรรมการกองทุนเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทจัดการมาเป็นผู้บริหารเงิน กองทุน pooled fund จึงมีลักษณะคล้ายกับกองทุนรวมที่เปิดขายเป็นการทั่วไป

 

ดังนั้น การมีข้อมูลที่เพียงพอและอยู่ในรูปแบบที่เปรียบเทียบระหว่างกองทุนได้ จะยิ่งช่วยให้คณะกรรมการกองทุนและสมาชิกสามารถเลือกลงทุนได้ง่ายขึ้น

 

ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลของ pooled fund ต่อสาธารณชน เช่น ข้อมูลผลการดำเนินงาน ค่าธรรมเนียมของกองทุน รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือเปรียบเทียบ (comparison tool) โดยนำข้อมูลสำคัญของ pooled fund มาเปรียบเทียบกัน เพื่อให้สมาชิกกองทุนและคณะกรรมการกองทุนได้รับข้อมูล pooled fund ที่เพียงพอ เหมาะสม และเปรียบเทียบได้ สำหรับใช้เป็นตัวช่วยในการเลือกนโยบายการลงทุนและกองทุน

 

ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยสรุปข้อมูลสำคัญของนโยบายการลงทุน หรือ factsheet ของ pooled fund และให้บริษัทจัดการที่ให้บริการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณชน 

 

ปัจจุบัน pooled fund เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ pooled fund ที่มีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลาย โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 2 ปี (2563-2564) ถึง 10% ครอบคลุมจำนวนนายจ้าง 18,983 ราย (ประมาณ 91% ของนายจ้างที่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) และจำนวนสมาชิก 1,712,423 คน (ประมาณ 60% ของสมาชิกกองทุนทั้งหมด) มีนโยบายการลงทุนของ pooled fund ให้คณะกรรมการกองทุนได้คัดเลือกทั้งสิ้น 278 นโยบายการลงทุน (ภายใต้ 42 กองทุน) จากบริษัทจัดการจำนวน 17 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2565) ซึ่งมีนโยบายการลงทุนและผลตอบแทนย้อนหลังที่หลากหลายแม้เป็นนโยบายการลงทุนประเภทเดียวกัน

เลือกลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกองไหนดี

 

เพื่อนสมาชิกจะเห็นได้ว่า ผลต่างของผลตอบแทนสูงสุดและต่ำสุดต่างกันค่อนข้างมากในแทบทุกนโยบายการลงทุน ซึ่งอาจมาจากสาเหตุทั้งปัจจัยภายในและภายนอก อาทิ ลักษณะการบริหารกองทุน    ของบริษัทจัดการที่แตกต่างกัน (เช่น เชิงรุก-เชิงรับ และความเชี่ยวชาญของผู้จัดการกองทุน) นโยบายย่อย ของการลงทุนที่แตกต่างกัน (เช่น ในประเทศ-ต่างประเทศ และหุ้นสุขภาพ-หุ้นยั่งยืน) รวมถึงปัจจัยภายนอก เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ดังนั้น คณะกรรมการกองทุนจึงควรพิจารณาข้อมูลและตัดสินใจเลือก pooled fund ที่มีนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับสมาชิกส่วนใหญ่ โดยอาจเลือกมากกว่าหนึ่งนโยบายการลงทุนเพื่อให้สมาชิกมีทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะกับตนเอง รวมทั้งคณะกรรมการกองทุนควรติดตามผลการดำเนินงานของ pooled fund เพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุนและกองทุนที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกส่วนมาก

 

สมาชิกเองก็มีหน้าที่ติดตามการลงทุนของตน เพื่อเลือกการลงทุนที่เหมาะสมภายใต้นโยบายการลงทุนและกองทุนที่คณะกรรมการกองทุนได้จัดสรรไว้ให้ โดยกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน ไม่มองผลตอบแทนระยะสั้นจนเกินไปเพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการลงทุนระยะยาว และควรติดตามการวิเคราะห์ภาวะตลาดและมุมมองการลงทุนที่บริษัทจัดการได้วิเคราะห์ไว้ให้ด้วย เนื่องจากผลตอบแทนในอดีตอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดเพียงลำพังในการพิจารณาลงทุน

 

นอกเหนือจากการพิจารณาการบริหารจัดการกองทุนของบริษัทจัดการควบคู่กับการเลือกลงทุนในนโยบายที่เหมาะสมกับลักษณะและความต้องการของตนเอง รวมถึงโอกาสในการได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า  ในระยะยาวตามที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว เรื่องค่าธรรมเนียมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการลงทุนระยะยาว ความต่างของค่าธรรมเนียมเพียง 1% จึงมีผลต่อผลตอบแทนในระยะยาว

 

ยกตัวอย่าง สมาชิกเริ่มเป็นสมาชิกกองทุนตอนอายุ 26 ปี ขณะนั้นมีเงินเดือน 25,000 บาท และเพิ่มปีละ 5% มีอัตราเงินสะสมและสมทบอยู่ที่ 8% ผลตอบแทนจากการลงทุนปีละ 7% เมื่อสมาชิกอายุ 60 ปี สมาชิกควรจะได้รับเงินก้อนประมาณ 13.3 ล้านบาท แต่หากระหว่างการลงทุนในช่วงที่เป็นสมาชิกถูกเก็บค่าธรรมเนียมปีละ 1% สมาชิกจะได้รับเงินก้อนจริงประมาณ 11.0 ล้านบาท ซึ่งทำให้เงินที่สมาชิกควรจะได้หายไปถึง 2.3 ล้านบาท  ดังนั้น เพื่อนสมาชิกควรศึกษาข้อมูลรอบด้านให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน