เคทีซีรับเศรษฐกิจฟื้น ดันกำไรครึ่งปี 3,641 ล้านบาท

21 ก.ค. 2565 | 12:01 น.

เคทีซีปลื้ม อานิสงส์เปิดประเทศ เศรษฐกิจฟื้นตัว ส่งงบการเงินรวมครึ่งปีแรกกำไรสุทธิ 3,641 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 9.9% มูลค่าพอร์ตสินเชื่อ 95,069 ล้านบาท โต 6.3% ปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรงวด 6 เดือนโตพรวด 16.6% อยู่ที่ 109,782 ล้านบาท

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร“เคทีซี”หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของเคทีซีงวดไตรมาส 2/2564 งบการเงินรวมมีกำไรสุทธิ 1,894 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.7%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้กำไรครึ่งปีแรก สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565 งบการเงินรวมมีกำไรสุทธิ 3,641 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 9.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี”

ขณะที่งบการเงินเฉพาะกิจการของเคทีซี งวดครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิ 3,621 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 9.5%  และงวดไตรมาส 2/2565 มีกำไรสุทธิ  1,870 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.7% จากฐานสมาชิกรวม 3.3 ล้านบัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม 95,069 ล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPL) 3.5% แบ่งเป็นพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2,525,367 บัตร เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม 61,426 ล้านบาท 

ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรครึ่งปีแรกเท่ากับ 109,782 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.6% สูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด ซึ่งครึ่งแรกของปี 2562 มีมูลค่า 100,282 ล้านบาท ส่วน NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.2% พอร์ตสมาชิกสินเชื่อบุคคลเคทีซี 756,960 บัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม 30,460 ล้านบาท  NPL สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 2.8% และพอร์ตลูกหนี้ตามสัญญาเช่ามูลค่า 3,184 ล้านบาท

 

ยอดสินเชื่อลูกหนี้ใหม่ (New Booking) ของสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” และกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง (KTBL) สำหรับครึ่งแรกของปี 2565 มียอดรวม 525 ล้านบาท โดยที่ยอดลูกหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกเดือนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

 

เคทีซียังคงให้ความสำคัญในการรักษาคุณภาพพอร์ตสินเชื่อ ทำให้การตัดหนี้สูญน้อยลง และบริหารรายได้และค่าใช้จ่ายให้เกิดความสมดุล โดยไตรมาส 2/2565 มีรายได้รวม 5,735 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น

 

ขณะที่รายได้รวมครึ่งปี 2565 อยู่ที่ 11,091 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% สำหรับหนี้สูญได้รับคืนในไตรมาส 2 เท่ากับ 851 ล้านบาท และครึ่งปี 2565 อยู่ที่ 1,708 ล้านบาท ในส่วนของค่าใช้จ่ายรวมในไตรมาส 2/2565 เท่ากับ 3,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% จากค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เพิ่มขึ้น และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและต้นทุนทางการเงินลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายรวมครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 6,539 ล้านบาท ลดลง 1.1%

 

ข้อมูลวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เคทีซีมีเงินกู้ยืมทั้งสิ้น 55,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% เป็นโครงสร้างแหล่งเงินทุนจากเงินกู้ยืมระยะสั้นและระยาวในสัดส่วน 34% ต่อ 66% โดยมีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line)  26,249 ล้านบาท ต้นทุนการเงิน 2.4% และอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2.2 เท่า ต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า

เคทีซีรับเศรษฐกิจฟื้น ดันกำไรครึ่งปี 3,641 ล้านบาท

“เคทีซียังคงดำเนินการแบ่งเบาภาระสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 บริษัทฯ ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในทุกสถานะตามประกาศ ธปท. ฝนส.2 ว.802/2564 คงเหลือ 2,182 ล้านบาท คิดเป็น 2.39% ของพอร์ตลูกหนี้รวม”นายระเฑียรกล่าว

 

นายระเฑียรกล่าวว่า การปลดล็อคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น และการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ รวมถึงการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนดีกว่าคาดหมาย จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น อีกทั้งสัญญาณของตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนก็ดีขึ้น   

 

ขณะที่อุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคและเคทีซีกลับมาเติบโตเช่นกัน โดยช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เคทีซีมีสัดส่วนลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรม 13.7%  สัดส่วนลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเทียบกับอุตสาหกรรม 4.0% ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 15.3% (อุตสาหกรรมโต 18.5%) และมีส่วนแบ่งตลาดเท่ากับ 11.8% โดยคาดว่าสิ้นปี 2565 อัตราเติบโตของปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตอาจจะขยายตัวได้ถึง 15% จากที่บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเติบโตไว้ที่ 10%

 

อย่างไรก็ตาม เคทีซีจะยังดำเนินธุรกิจตามแผนงานที่ตั้งเป้าหมายไว้ในด้านต่างๆ ด้วยความไม่ประมาท และติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยในช่วงครึ่งปีหลังจะมุ่งเน้นการจัดหาสมาชิกและเพิ่มมูลค่าพอร์ตสินเชื่อทุกผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น ด้วยการคัดสรรกิจกรรมการตลาดให้เหมาะสมกับสภาพการณ์และบริบทที่ปรับเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้ค่าใช้จ่ายการตลาดเพิ่มขึ้น และมีการตั้งสำรองเพิ่มตามพอร์ตลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้น โดยจะบริหารจัดการต้นทุนการเงินและอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม ด้วยประมาณการเป้าหมายกำไรปี 2565 ที่สูงกว่าเดิม และพอร์ตสินเชื่อรวมที่มูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท