“กอบศักดิ์"ย้ำ Recession อาจจะมาเร็วกว่าที่คิด หากวิกฤตท่อก๊าซในยุโรปลาม

17 ก.ค. 2565 | 07:41 น.

เศรษฐกิจถดถอยในรอบนี้ กำลังจะยกระดับเป็น Global Recessions !!! ที่ "ทั้งโลก" ประสบภาวะนี้พร้อมๆกัน –มีนัยยะมายังไทยในช่วงต่อไป ถ้าใช้เวลาที่เหลือ หยิบฉวยโอกาสที่เปิดจากวิกฤตราคาอาหาร ราคาพลังงานเพิ่มขึ้นกับASEANจะพอผ่อนหนักเป็นเบา

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล   กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ  ธนาคารกรุงเทพ โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ส่วนตัว "Kopsak Pootrakool" ระบุว่า

 

สิ่งที่กำลังรอเราอยู่ในรอบนี้ กำลังยกระดับขึ้นเป็น Global Recessions อีกครั้งและมีนัยยะมายังประเทศไทยในช่วงต่อไป  เพราะไทยเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกทั้งหมดนี้  

 

 

โชคดีที่ยังมีเวลาอีกนิด  ถ้าใช้เวลาที่เหลือ หยิบฉวยโอกาสที่เปิดจากวิกฤตราคาอาหาร ราคาพลังงาน และจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ 

 

ทั้งในเรื่องสินค้าเกษตร การส่งออกไปสหรัฐ การท่องเที่ยว การลงทุนในพลังงานทดแทน และความสนใจที่ทุกคนมีเพิ่มขึ้นกับ ASEAN  เราก็จะพอผ่อนหนักเป็นเบา ผ่านไปได้!

 

 

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล  ระบุว่า  Global Recessions : โลกถดถอย !!!เราเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอยอยู่บ่อยครั้ง  แต่ Global Recessions เป็นปัญหาที่หนักขึ้นจากเดิมไปอีกหลายขั้น  

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะเศรษฐกิจถดถอยเป็นเรื่องปกติ ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง  ประเทศที่พัฒนาแล้วเกิดเศรษฐกิจถดถอยรวมกันประมาณ 150 ครั้ง ในช่วงตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา

 

เวลาที่เศรษฐกิจขยายตัวไปสักระยะก็จะสะสมปัญหาต่างๆ เอาไว้ ท้ายสุดก็มักจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นการชั่วคราว   การเข้าสู่ Recession จะช่วยชะล้างปัญหาต่างๆ บริษัทที่อ่อนแอ ก็จะต้องปิดตัวไปในช่วงนี้

 

คนตกงาน รวมไปถึงคนที่จ้างมาเกินก็ตกงานกันช่วงนี้  ธนาคารจัดการปัญหาหนี้เสียออกจาก Balance Sheets  ถ้ามีเงินเฟ้อสูงด้วย ช่วงนี้เงินเฟ้อก็จะลดลง  ถ้ามีฟองสบู่ ฟองสบู่ก็จะแฟบ  ทั้งหมดจะช่วย Set zero ให้กับระบบ

 

หลังจากนั้น ก็จะเข้าสู่จุดเริ่มต้นใหม่ ที่ดอกเบี้ยต่ำ แบงค์เริ่มปล่อยกู้ หุ้นสดใส บริษัทเริ่มเปิดใหม่ ขยายกิจการ เริ่มจ้างงาน  คนเริ่มใช้จ่าย

 

ทั้งนี้ วัฏจักรขยายตัว-ถดถอย หรือ Expansion-Recession เป็นเรื่องปกติของทุกประเทศ ที่ปกติแล้วจะขยายตัว 4-5 ปี แล้วตามมาด้วยถดถอย 4-5 ไตรมาส สลับกันไป

 

"ธุรกิจมีขึ้นมีลง" เศรษฐกิจก็เช่นกัน "มีขึ้นมีลง"  ส่วนเวลาที่ใช้ บางครั้งสั้นกว่านี้ บางครั้งยาวกว่านี้  แล้วแต่ว่าปัญหานั้นลึกแค่ไหน  หากมีวิกฤตการเงิน วิกฤตฟองสบู่แตก ที่มีหนี้เสียมากมาย ประกอบอยู่ด้วยก็จะใช้เวลามากขึ้น

 

ตัวอย่างเช่น ช่วงต้มยำกุ้งในไทย หรือ Subprime ในสหรัฐ ประเทศที่เป็นต้นตอของวิกฤต ก็มักจะต้องใช้เวลาเพิ่มอีก 3-4 ปี หลังผ่านช่วงถดถอยไปแล้ว ในการพักฟื้น ก่อนที่จะกลับมามีสุขภาพปกติ สามารถเริ่มต้นใหม่ได้

 

-สหรัฐหลัง Subprime  ถดถอยไป 1.5 ปี ตามด้วยการคลี่คลายปัญหาอีก 4-5 ปี  

 

-Dow Jones เคยสูงสุดที่ 14,000 ปลายปี 2007 กว่าจะกลับไปจุดเดิม ก็ต้องปี 2013  ส่วนราคาบ้านสหรัฐที่เคยสูงสุดปี 2006 กว่าที่ราคาบ้านจะคึกคักอีกครั้ง ก็ต้องปี 2012 กว่าจะกลับไปจุดเดิม ก็ต้องปี 2016

 

-ไทยหลังต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 กว่าหุ้นจะเริ่มฟื้นก็ต้องปี 2002-2003 ไปแล้ว แต่หากไม่มีวิกฤตการเงินภายในประเทศ การฟื้นตัวก็จะเร็วเป็นพิเศษ

 

เช่น ไทยหลัง Subprime ปี 2008 ที่ในปีต่อมา หุ้นเราก็เริ่มฟื้นอย่างคึกคัก และในปี 2010 ก็สามารถกลับไปที่เดิมได้ (ขณะที่สหรัฐยังต้องใช้อีก 3 ปี) !!!

 

เพียงแต่ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในรอบนี้ กำลังจะยกระดับเป็น Global Recessions !!! ที่ "ทั้งโลก" ประสบภาวะนี้พร้อมๆ กัน

 

แม้บางประเทศจะยังพอขยายตัวได้ แต่ใน Global Recessions โลกโดยรวมมีขนาดเศรษฐกิจที่ลดลง !!!

เหตุการณ์ในลักษณะนี้ เกิดขึ้นเพียง 5 ครั้งเท่านั้น ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา คือ

1975 - วิกฤตน้ำมัน First Oil Shock

1982 - หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยไปอย่างรวดเร็วเพื่อสู้เงินเฟ้อ หลัง Second Oil Shock

1991 - หลัง Gulf War และการปรับขึ้นของราคาน้ำมันโลกอีกรอบ

2009 - หลังวิกฤต Subprime

2020 - ช่วงปิดเมืองพร้อมๆ กันรอบแรกจากโควิด-19   

ทุกรอบเกิด "เศรษฐกิจถดถอยพร้อมๆ กัน ทั่วโลก" หรือ "Synchronized Recessions" ไม่ได้เฉพาะแต่ประเทศใดประเทศหนึ่ง

ที่น่ากังวลใจก็คือ จากช่วงแรกๆ ที่คนออกมาพูดว่าประเทศโน้น ประเทศนี้ เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว สิ่งที่กำลังรอเราอยู่ในรอบนี้ กำลังยกระดับขึ้นเป็น Global Recessions อีกครั้ง

 

ถ้าลองคิดดู 1975 1982 1991 ปัญหาเริ่มมาจากราคาน้ำมันที่คุกคามทุกประเทศ

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ราคาน้ำมันโลก ผสมผสานกับราคาอาหารโลก ส่งผลกระทบทุกคนพร้อมๆ กัน นำไปสู่วิกฤตเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 30-40 ปี เกือบทุกประเทศ

 

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางประเทศต่างๆ จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายเข้มงวดเพื่อทำสงครามกับเงินเฟ้อ  ต้องใช้ยาแรงเป็นพิเศษ และจากนโยบายธนาคารกลางต่างๆ เหล่านี้ ตลาดจึงคาดการณ์ต่อไปว่า จะมีหลายประเทศที่เริ่มเข้าสู่ Recession (อย่างจริงๆ จังๆ) ในช่วงปลายปีนี้ ต้นปีหน้า และ Recession อาจจะมาเร็วกว่าที่เราคิด หากวิกฤตท่อก๊าซในยุโรปลุกลาม

 

สอดรับกับนักวิเคราะห์จาก Nomura ที่คาดไว้ว่าจะมี 7 กลุ่มประเทศที่เผชิญกับปัญหา คือ สหรัฐ กลุ่มยูโร อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย แคนาดา ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

-รับกับกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ IMF ที่ออกมาเตือนในสัปดาห์ที่ผ่านมา

-รับกับหัวหน้านักเศรษฐศาตร์ธนาคารโลก ที่ออกมาเตือนในเรื่องนี้เช่นกัน

และยิ่งจีนมีปัญหาภายใน การถดถอยของโลกรอบนี้ ก็จะไม่มีตัวช่วย

 

ทั้งหมดนี้จะมีนัยยะไปต่อราคาพลังงานโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาสินทรัพย์ต่างๆ อย่างที่เราเห็นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาและจะมีนัยยะมายังประเทศไทยในช่วงต่อไป อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกทั้งหมดนี้ โชคดีที่เรายังมีเวลาอีกนิด

 

ถ้าเราใช้เวลาที่เหลือ หยิบฉวยโอกาสที่เปิดขึ้นจากวิกฤตราคาอาหาร ราคาพลังงาน และจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ  ทั้งในเรื่องสินค้าเกษตร การส่งออกไปสหรัฐ การท่องเที่ยว การลงทุนในพลังงานทดแทน และความสนใจที่ทุกคนมีพิ่มขึ้นกับ ASEAN  เราก็จะพอผ่อนหนักเป็นเบา ผ่านไปได้ครับ

“กอบศักดิ์"ย้ำ Recession อาจจะมาเร็วกว่าที่คิด หากวิกฤตท่อก๊าซในยุโรปลาม

#ท่องเศรษฐกิจกับดร.กอบ  #GlobalRecessions

ขอขอบคุณภาพจาก WION และ Reuters ครับ