Fundamental ดี Fund Flow หนี ตลาดหุ้นไทยยังน่าสนใจหรือไม่

12 ก.ค. 2565 | 22:05 น.

หากเอ่ยถึงแรงขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทยว่าจะ “ไปต่อหรือไม่” ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) และเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (Fund Flow)

  • ปัจจัยพื้นฐาน ดูจากภาพรวมต่าง ๆ ทั้งตัวเลขทางเศรษฐกิจ ภาวะของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ผลการดำเนินงานและแนวโน้มของบริษัทจดทะเบียน เป็นต้น
  • เม็ดเงินลงทุน จากข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 กลุ่มนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยมี 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ (มีน้ำหนักประมาณ 22%) นักลงทุนสถาบันในประเทศ (มีน้ำหนักประมาณ 8.26%) พอร์ตโบรกเกอร์ (มีน้ำหนักประมาณ 8.54%) และนักลงทุนรายย่อย (มีน้ำหนักประมาณ 36.98%)

 

หากตลาดหุ้นมีองค์ประกอบทั้ง 2 มาพร้อม ๆ กัน คือ พื้นฐานแน่นและเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าต่อเนื่อง บ่งบอกว่าตลาดหุ้นจะปรับขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกัน เมื่อใดก็ตามที่เม็ดเงินลงทุนไหลออกและปัจจัยพื้นฐานอ่อนแอ ตลาดหุ้นจะอยู่ในภาวะซบเซา ผลที่ตามมา คือ ระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะลดลง และแม้ราคาหุ้นจะปรับลดลงด้วยเช่นกันแต่ก็ไม่มีใครกล้าเข้ามาลงทุน

 

และอีกกรณี คือ หากปัจจัยพื้นฐานยังสดใสแต่เม็ดเงินลงทุนไม่ค่อยไหลเข้าหรือชะลอการลงทุน (Fundamental ดี แต่ Fund Flow ไม่มา) ตลาดหุ้นจะอยู่ในภาวะ Sideway ไม่ค่อยไปไหน นอกจากนี้ หากเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าตลาดหุ้นแต่ปัจจัยพื้นฐานยังดูไม่แข็งแกร่งอาจทำให้ตลาดหุ้นเกิดความผันผวนได้

หากดูปัจจัยพื้นฐานหุ้นไทยถือว่าอยู่ในระดับที่ดี โดยบริษัทจดทะเบียนรายงานกำไรไตรมาส 1 ปี 2565 ออกมาจำนวน 630 บริษัท (คิดเป็นสัดส่วนมาร์เก็ตแคป 96% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ฯ) มีกำไรรวมกันอยู่ที่ 2.74 แสนล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 26% ของประมาณการทั้งปี ที่ตั้งไว้ที่ 1.04 ล้านล้านบาท) และเมื่อเทียบกับกำไรของทุกบริษัทจดทะเบียนในช่วงเดียวกันของปี 2564 เพิ่มขึ้น 9.7% แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตที่ยังแข็งแรงในยามที่ปัจจัยภายนอกผันผวน

 

เช่นเดียวกันกับเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติก็ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคมที่ผ่านมา ต่างชาติ “ซื้อสุทธิ” 142,016.86 ล้านบาท และ “ขายสุทธิ” 29,387.43 ล้านบาทในเดือนมิถุนายน เนื่องจากเป็นช่วงที่เข้าสู่การใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและเริ่มต้นลดขนาดงบดุล เพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินทั้งระบบให้ลดลง อีกมุมหนึ่ง คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น

 

ดังนั้น ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยชะลอการไหลออกของเงินลงทุนต่างชาติ นั่นคือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้เงินลงทุนมีแนวโน้มไหลออกตามการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง และทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้อีก

สำหรับไตรมาส 2 ของปีนี้ นักลงทุนต้องจับตาดูกำไรของบริษัทจดทะเบียนว่าจะเป็นอย่างไร เนื่องจากปัจจัยภายนอกกดดันภาพรวมตลาด บริษัทจดทะเบียนต้องรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ ความเสี่ยงจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น หากธุรกิจสามารถปรับราคาขายขึ้นได้ อาจได้รับผลกระทบไม่มาก แต่ถ้าธุรกิจไหนปรับราคาขายไม่ได้เลย อาจได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ นั่นหมายความว่า หากบริษัทจดทะเบียนสามารถรักษาผลกำไรหรือมาร์จิ้นในการดำเนินธุรกิจได้ ก็อาจทำให้เงินลงทุนต่างชาติชะลอการไหลออกได้

 

ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนเพื่อเอาชนะความผันผวนของตลาด นักลงทุนจำเป็นต้องพิถีพิถันในการเลือกหุ้นมากขึ้น โดยแนะนำให้เน้นเลือกหุ้นที่กำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง พร้อมกับมีปัจจัยเฉพาะตัวหนุนและฟื้นตัวเร็วขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการ COVID-19 และได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า รวมถึงราคาสินค้าสามารถยืนในระดับสูง เช่น หุ้นพลังงานที่ได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ยืนระดับสูงกว่าปกติ หุ้นกลุ่มเปิดเมืองต่าง ๆ เช่น กลุ่มแบงก์ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มการแพทย์ และกลุ่มขนส่ง ที่ได้แรงหนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นขึ้นตามลำดับ และหุ้นกลุ่มส่งออก เช่น กลุ่มอาหาร กลุ่มเกษตร กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้แรงหนุนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าและสามารถปรับราคาขายได้

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

โดย :  เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ และหัวหน้าสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส

ที่มา :  setinvestnow.com